ฝ้าเพดานมีกี่ประเภท และทำมาจากวัสดุอะไรบ้าง

 

Ceiling Design History ประวัติความเป็นมาของการออกแบบฝ้าเพดาน

การออกแบบฝ้าเพดาน (Ceiling Design) เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมาเกือบพันปี ซึ่งการเกิดขึ้นของงานออกแบบตกแต่งฝ้าเพดานยุคแรกๆต้องย้อนเวลาไปถึงต้นปี 1300 กันเลยทีเดียว

จริงแล้วจุดแรกเริ่มในอดีตอาจไม่สามารถเรียกว่าฝ้าเพดานได้อย่างเต็มปากนัก แต่มันคือการตกแต่งเพดานให้มีความสวยงามตามความเชื่อ และการใช้งานของคนในอดีตเท่านั้น แต่มันก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ยุคสมัยต่างๆมาอย่างยาวนานกินเวลาหลายร้อยปี จากจุดเริ่มต้นแค่การตกแต่งเพดานธรรมดาก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆจนถูกพัฒนาให้กลายเป็นระบบฝ้าเพดานในปัจจุบัน

จริงๆแล้วมนุษย์รู้จักการออกแบบตกแต่งเพดานมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่เพดานโรมันในยุคแรกๆนั้นเต็มไปด้วยการแกะสลัก และภาพวาดประดับตกแต่งเป็นหลัก และในช่วงยุคกอธิคแนวโน้มการตกแต่งฝ้าเพดานได้หันมาใช้องค์ประกอบที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ชัดว่าในยุคนี้เพดานจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากเพื่อรองรับการตกแต่งที่งดงามจากงานปั้น และงานจิตรกรรมที่มีสีสันสดใส

เมื่อมาถึงยุคเรเนซองส์ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังฟื้นฟูศิลปวิทยาการ งานออกแบบเพดานได้รับการพัฒนาให้มีระดับความละเอียด และมีความหลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งออกได้ 3 ประเภท

ประเภทที่ 1

ก็คือฝ้าเพดานรูปทรงเรขาคณิต มีทั้งรูปทรงกลมสี่เหลี่ยม รูปทรงแปดเหลี่ยม และฝ้าเพดานในลักษณะตัวแอล โดยชายขอบของฝ้าจะเต็มไปด้วยงานสลักที่สวยงาม

Roman Ceiling

credit photo : https://www.aladyandherbaby.com

ประเภทที่ 2

คือ ฝ้าเพดานโค้ง และฝ้าเพดานกึ่งโค้ง โดยจะมีการทาสีตกแต่งที่ส่วนโค้งของเพดาน เพื่อเน้นให้ส่วนโค้งมีความโดดเด่น  จนมาถึงยุคบาโรกก็มีการใช้วัสดุใหม่ๆเข้ามาตกแต่งฝ้าเพดานโค้งได้อย่างสวยงามแปลกใหม่อย่างเช่น ม้วนกระดาษพิมพ์(เป็นวัสดุรากฐานของการกำเนิดวอลเปเปอร์ในอดีต) 

baroque arch ceiling

credit photo : https://www.flickr.com

ประเภทที่ 3

คือ ฝ้าเพดานที่ถูกพัฒนาโครงสร้างรับน้ำหนักให้แข็งแรงขึ้น จึงทำให้พื้นที่ฝ้าเพดานมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ในการตกแต่งงานศิลป์ทั้งงานปั้น งานแกะสลัก และงานจิตรกรรมสามารถทำได้อย่างถึงขีดสุด อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีการทดลองวัสดุตกแต่งใหม่ๆเพิ่มเข้ามา จึงทำให้งานตกแต่งเพดานในยุคนี้มีความสวยงามวิจิตรตระการตา ดังเช่น ฝ้าเพดานในพระราชวัง Doges ในเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เป็นต้น

ฝ้าเพดานในพระราชวัง Doges ในเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี

credit photo : https://www.venetoinside.com

ฝ้าเพดานมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงยุคโมเดิร์นซึ่งเป็นช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม การออกแบบเพดานในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้ถุกลดทอนรายละเอียดต่างๆลงค่อนข้างมาก ประกอบกับมีการตัดองค์ประกอบที่ฟุ่มเฟือยหลายๆอย่างออก จึงทำให้ฝ้าเพดานในยุคนี้มีความเรียบง่ายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  

การออกแบบเพดานในยุคโมเดิร์น ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

- เพดานแบบแขวน (เน้นความสวยงามเรียบร้อยของสเปซ) 

- เพดานแบบเปิด (เน้นความเป็นสัจจะของวัสดุ และสเปซ)

เพดานแบบแขวน (รากฐานสำคัญของการพัฒนาฝ้าเพดานที่ใช้ในปัจจุบัน) ก็คือ ฝ้าเพดานที่อยู่ในระยะที่ต่ำกว่าโครงสร้างพื้นชั้นบน สถาปนิกในยุคนั้นพยายามออกแบบเพดานขึ้นมาอีกชั้นเพื่อปกปิดท่อต่างๆของงานระบบ เพื่อทำให้สเปซภายในห้องมีความเรียบร้อยสวยงาม 

ในขณะที่เพดานแบบเปิด โดยที่ไม่มีอะไรมาปกปิดท่องานระบบก็ได้รับความนิยมในงานออกแบบเช่นเดียวกัน โดยจะเน้นการโชว์ให้เห็นกลิ่นอายยุคอุตสาหกรรมที่สะท้อนผ่านท่อต่างๆของงานระบบอาคาร และความเป็นสัจจะธรรมชาติของการใช้วัสดุในสเปซนั้นๆ 

ฝ้าเพดานแบบแขวนในยุคโมเดิร์น

credit photo : https://local12.com

ฝ้าเพดานแบบเปิดในยุคโมเดิร์น

credit photo : Flickr 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฝ้าเพดานถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่ออาคาร หรือ งานสถาปัตยกรรม ฝ้าเพดานถูกใช้ประโยชน์เพื่อปิดบังท่องานระบบ และอุปกรณ์ต่างๆที่ไม่น่าดูใต้พื้นชั้นบนเหนือฝ้าเพดาน อีกทั้งยังช่วยป้องกันฝุ่น ป้องกันแมลง ช่วยรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่ และทำให้พื้นที่ภายในห้องนั้นๆดูเรียบร้อยสะอาดตา ซึ่งมีหลายๆวัสดุให้เลือกใช้ตามแต่ความต้องการ

ปกติแล้วฝ้าเพดานจะถูกแบ่งตามลักษณะการใช้งานหลักๆก็คือ ฝ้าภายใน และฝ้าภายนอก แต่ก็ยังสามารถแบ่งตามประเภทย่อยได้อีกดังนี้

- Ceilling Type : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

- Ceilling Raw Material : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

Ceilling Type : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

ฝ้าเพดานฉาบเรียบ 

1. ฝ้าเพดานฉาบเรียบ 

ฝ้าเพดานประเภทนี้มักใช้ในงานที่ต้องการความเรียบเนียนกลมกลืนไปกับสไตล์การออกแบบจึงมักเป็นการติดตั้งแบบถาวรเป็นหลัก โดยวัสดุกรุฝ้านั้นจะนิยมใช้วัสดุแผ่นที่ทำจากยิปซั่ม และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยจะยึดเข้ากับโครงเคร่าที่ติดตั้งไว้กับโครงหลังคาอีกที เช่น โครงคร่าวประเภท C-Line 

บริเวณรอยต่อของฝ้าเพดานแบบฉาบเรียบแต่ละแผ่น จะฉาบปิดรอยต่อด้วยปูนสำหรับฉาบปิดรอยต่อฝ้า แล้วปิดทับรอยต่อด้วยผ้าด้ายดิบ เมื่อเสร็จทั้งหมดแล้วทาสีทับก็จะมองเห็นแผ่นฝ้าเรียบเป็นผืนเดียวกันตลอดแนวโดยมองไม่เห็นรอยต่อ ฝ้าประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า “ฝ้าฉาบเรียบ”

ฝ้าเพดานแขวน หรือ ฝ้าที-บาร์

2. ฝ้าเพดานแขวน หรือ ฝ้าที-บาร์

เป็นฝ้าเพดานที่นิยมใช้กันค่่อนข้างมากเพราะความสะดวก และราคาไม่แพงมากเมื่อเทียบกับฝ้าแบบอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถเปิดฝ้าขึ้นไปดูแล หรือ ซ่อมแซมงานระบบต่างๆบนเพดานได้สะดวก 

ฝ้าเพดานชนิดนี้ เป็นฝ้าที่มีโครงเคร่าอลูมิเนียมคว่ำเป็นรูปตัว T และเป็นช่องตารางเท่าๆกันเพื่อว่างแผ่นฝ้ายิปซั่ม โดยยึดด้วยลวดโครงเคร่าเข้ากับโครงหลังคา สำหรับแผ่นยิปซั่มที่ใช้ในการปิดช่องจะมีขนาดมาตรฐานก็คือ 60 x 60 ซ.ม.

การติดตั้งฝ้าเพดานประเภทนี้เหมาะกับห้องที่มีขนาดเล็ก แต่ถ้าหากนำไปใช้ในห้องที่มีขนาดใหญ่มากๆอาจเกิดการหย่อนตัวของลวดที่ใช้ยึด ซึ่งอาจทำให้ฝ้าเพดานภายในห้องมีลักษณะเป็นคลื่นได้ นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานภายในห้องต่างๆในอาคารสูงๆ เพราะถ้าหากว่ามีลมพัดแรงมากๆเข้ามาที่ใต้ฝ้า หรือ เวลาที่อาคารสูงมีการสั่นไหว (อาคารสูงหลายๆแห่งจะถูกออกแบบให้สามารถสั่นไหวได้ 1 ฟุต) อาจจะทำให้ฝ้าหลุดลงมา หรือ ทำให้ลวดยึดหย่อนตัว จนเป็นช่องทำให้ฝุ่นผงตกลงมาที่พื้นห้อง

นอกจากนี้ถ้าหากจะติดตั้งในพื้นที่ ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว ควรจะใช้ฝ้าที-บาร์ แบบกันชื้น เพราะไม่เช่นนั้นถ้าหากใช้แบบธรรมดามันจะผุได้ง่าย และทำให้อายุการใช้งานจะสั้นลงมาก

ฝ้าเพดานแบบเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุม

3. ฝ้าเพดานแบบเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุม

ฝ้าเพดานประเภทนี้ มักจะพบเห็นค่อนข้างน้อยโดย จะเห็นได้ในอาคารเป็นบางแห่ง ฝ้าเพดานเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุมเป็นฝ้าที่มีลักษณะเด่นที่สุดด้วยรูปแบบที่สวยงาม ซึ่งมีการเล่นระดับให้ดูมีมิติที่โดดเด่นหรูหรา การเล่นระดับของฝ้าอาจเลือกใช้บัวตกแต่งผสมผสานร่วมด้วย และในบางกรณีการออกแบบฝ้าหลุม อาจทำเพื่อให้มีความสอดรับกับการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ซ่อนเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งโคมระย้า หรือ พัดลมเพดาน

ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ หรือ ไฟหลืบ ไฟซ่อน

4. ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ หรือ ไฟหลืบ ไฟซ่อนฝ้า

ฝ้าเพดานประเภทนี้ จะมีการเว้นพื้นที่ของฝ้าเพื่อวางแนวไฟส่องสว่างให้ส่องสะท้อนแผ่นฝ้าลงมาสู่พื้นที่ใช้งาน เพื่อให้ได้แสงที่สม่ำเสมอ นุ่มนวล และดูสบายตา โดยส่วนมากมักจะใช้เพื่อสร้างบรรยากาศ และตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงามหรูหราให้กับพื้นที่นั้นๆ

ฝ้าเพดานดูดซับเสียง หรือ ฝ้าอะคูสติก

5. ฝ้าเพดานดูดซับเสียง หรือ ฝ้าอะคูสติก

แต่เดิมฝ้าประเภทนี้ เป็นระบบฝ้าเพดานที่ผสมผสานระหว่างโครงเคร่าฝ้าแบบที-บาร์ โดยมีตัวเลือกของแผ่นฝ้า ที่เป็นแผ่นฝ้าประเภทที่สามารถป้องกันเสียงสะท้อนได้ อย่างเช่น Acoustic Board ที่มีพื้นผิวขรุขระ ซึ่งจะช่วยในการดูดซับเสียงไม่ให้สะท้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนิยมใช้ในห้องประชุมสัมนา ,ภายในอาคารสำนักงาน หรือ ห้องแสดงมหรสพต่างๆ

ในปัจจุบันนอกจากระบบโครงเคร่าฝ้าแบบที-บาร์ แล้ว ได้มีการพัฒนาระบบโครงเคร่าฝ้าแบบฉาบเรียบ ที่สามารถใช้ผสมผสานกับแผ่นฝ้า Acoustic Board ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น 

ฝ้าเพดานโปร่ง หรือ ฝ้าระแนง

6. ฝ้าเพดานโปร่ง หรือ ฝ้าระแนง

ฝ้าประเภทนี้นิยมใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรือ เพื่อพรางท่องานระบบต่างๆใต้พื้นอาคาร นอกจากนี้ฝ้าโปร่งแบบระแนงยังช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก และยังซ่อมแซมง่าย ส่วนใหญ่นิยมใช้กับอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ,ห้างสรรพสินค้า ,อาคารสำนักงาน ,สถานีรถไฟฟ้า ,สถานีขนส่ง ฯลฯ

ฝ้าเพดานติดตั้งพิเศษ

7. ฝ้าเพดานติดตั้งพิเศษ

ฝ้าประเภทนี้ เป็นฝ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความสวยงาม หรือ สร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างให้กับพื้นที่นั้นๆ เช่น ล็อบบี้โรงแรม หรือ ภายในรีเทลช๊อป ที่ต้องการประสบการณ์ในการรับรู้ที่แปลกใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจ

ลักษณะของฝ้าประเภทนี้จะมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากฝ้าทั่วไป และอาจมีการผสมผสานในด้านการใช้วัสดุที่หลากหลายขึ้น เช่น กระจก ,อะคริลิค ,ผ้าใบ ,ผ้าตกแต่ง ,แผ่นอลูมิเนียม หรือ ไม้จริง เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญในการติดตั้งมากกว่าฝ้าแบบทั่วไป

ฝ้าชายคา หรือ ฝ้าเพดานภายนอก

8. ฝ้าชายคา หรือ ฝ้าเพดานภายนอก

ฝ้าเพดานประเภทนี้ เป็นฝ้าที่ใช้ปิดเพดาน และชายคาที่อยู่นอกอาคาร มีจุดประสงค์หลักในการป้องกันสัตว์ต่างๆเข้ามาใต้เพดาน ป้องกันความร้อนจากภายนอก และช่วยระบายอากาศจากใต้หลังคา เราจึงมักเห็นฝ้าที่ออกแบบให้มีร่องระบายอากาศสำหรับใช้ภายนอกอยู่บ่อยๆนั่นเอง

 

 

คลิก! เพื่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด

 

Ceilling Raw Material : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

ฝ้าที่ทำจากวัสดุยิปซั่ม

1. ฝ้าที่ทำจากวัสดุยิปซั่ม

แผ่นฝ้ายิปซั่ม ผลิตมาจากผงแร่ยิปซั่มที่อัดปิดทับหน้าหลังด้วยกระดาษ จึงทำให้พื้นผิวมีความเรียบเนียน และอาจมีการเคลือบสารเคมีบางชนิดเพื่อให้มีคุณสมบัติการใช้งานที่ดีขึ้น  แผ่นยิปซั่มความหนาที่นิยมใช้ในท้องตลาด คือ  9 มม. 12 มม. และ 15 มม. ขนาดแผ่นกว้าง 1.20 ม. ยาว 2.40 ม. และมีหลายชนิดให้เลือกใช้โดยมีราคาตั้งแต่ 140 – 300 บาท ต่อแผ่น ขึ้นอยู่กับชนิด และความหนาแผ่น

แผ่นฝ้ายิปซั่มสามารถแบ่งประเภทตามรูปแบบการใช้งานได้ดังนี้

- แผ่นยิปซัมรุ่นมาตรฐาน สีขาว จะมีกระดาษปิดทับทั้งสองด้าน  ไว้ใช้ทำผนังและฝ้าเพดานทั่วๆไป

- แผ่นยิปซัมทนความชื้น  จะเห็นเป็นผิวสีเขียว เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่นห้องน้ำ ห้องครัว ฝ้าเพดานภายนอกอาคาร

- แผ่นยิปซัมทนไฟ  จะเห็นเป็นสีชมพู เหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีความร้อนสูง (ทนเพลิงไหม้ได้ 3 ชั่วโมง โดยไม่ร่วงหล่น)  เหมาะสำหรับทำฝ้าเพดาน ที่ต้องการอัตราการป้องกันไฟสูง เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ช่องลิฟท์ทางหนีไฟ และผนังอาคารต่างๆ

- แผ่นยิปซัมกันร้อนติดอลูมิเนียมฟอยล์   ซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสีความร้อนได้สูงถึง 95% ติดไว้ด้านหลังของแผ่นยิปซั่ม ช่วยลดความร้อนภายในได้ดี นิยมติดตั้งบริเวณฝ้าของห้องใต้หลังคา

- แผ่นยิปซั่มสำหรับดัดโค้ง  มีความหนา 6มม ซึ่งสามารถดัดโค้งได้ดีในรัศมีที่แคบ โดยไม่ต้องใช้น้ำหรือเครื่องมือช่วย

คุณสมบัติเด่น

  • น้ำหนักเบา  แผ่นยิปซั่มและโครงเคร่ามีน้ำหนักเบา เหมาะกับพื้นที่งานต่อเติมที่ไม่ต้องการให้อาคารรับน้ำหนักมากเกินไป
  • แผ่นยิปซั่มแข็งแต่เปราะ  สามารถใช้คัตเตอร์ในการตัด เจาะได้
  • ติดตั้งง่าย และรวดเร็ว 
  • ผิวเนียนเรียบ ไร้รอยต่อ 
  • หาวัสดุ และช่างได้ง่าย
  • ช่วยลดเสียง และความร้อนได้

คุณสมบัติด้อย

  • เนื้อยิปซั่มมีโอกาสเปราะหักง่าย เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ
  • ไม่ค่อยทนความชื้น

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์

2. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์

แผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือ ที่นิยมเรียกว่าแผ่นฝ้าสมาร์ทบอร์ด ผลิตมาจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ผสมเข้ากับเส้นใยเซลลูโลสชนิดพิเศษ ทรายซิลิก้า และน้ำ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ และแรงดันสูง เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ทนทานสูงขึ้น

แผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ มีขนาดที่นิยมใช้ในท้องตลาดดังนี้

ขนาด  120x240 ซม. มีความหนาที่  4,6,8,10,12,16,18,20 มม.

ขนาด  60x120 ซม.   มีความหนาที่  4 และ 6 มม.

ขนาด  60x240 ซม.   มีความหนาที่  4 มม.

ขนาด  120x120 ซม. มีความหนาที่  4 มม.

โดยมีราคาในทัองตลาดตั้งแต่ 400-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภท และขนาด

คุณสมบัติเด่น

  • น้ำหนักเบา และติดตั้งได้ง่าย
  • ลดการนำความร้อนช่วยให้บ้านเย็น เนื่องจากมีค่าการนำความร้อนต่ำกว่ากระเบื้องแผ่นเรียบ จึงช่วยลดความร้อนจากโถงหลังคาเข้าสู่ภายในบ้านได้ดี ช่วยให้บ้านเย็น และประหยัดค่าไฟฟ้า 
  • ปลวกไม่กิน เพราะทำมาจากปูนซีเมนต์ และส่วนผสมชนิดพิเศษอื่นๆ
  • มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ ช่วยประวิงเวลาในการหลบหนีได้ในระดับหนึ่ง
  • มีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกสูงไม่แตกหักง่าย
  • เนื้อเหนียวมีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดโค้งได้ดีในระดับหนึ่ง
  • ทนน้ำ ทนฝน ทนความชื้น และทนแดด ได้นานนับสิบปีโดยไม่เปื่อยยุ่ย
  • ใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอก

คุณสมบัติด้อย

  • เห็นรอยต่อระหว่างแผ่นเป็นรอยท้องช้างชัดเจน เนื่องจากเป็นแผ่นแข็ง เวลาต่อกัน และฉาบอาจจะไม่เนียนเหมือนกับใช้ยิบซั่มบอร์ด 
  • พื้นผิวไม่ค่อยสวยงาม ทาสีไม่ค่อยเรียบเนียนทั้งๆที่ไม่ใช่รอยต่อ 

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไม้จริง และไม้เทียม

3. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไม้จริง และไม้เทียม

ไม้จริงเป็นวัสดุทำฝ้าที่นิยมมากในอดีต ด้วยความสวยงามเป็นธรรมชาติ แต่ปัจจุบันไม้มีราคาสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆจึงทำให้ค่าใช้จ่ายและการบำรุงรักษาฝ้าประเภทนี้แพงตามไปด้วย ซึ่งเราจะไม่ลงลึกในคุณสมบัติของไม้จริง เพราะหลายๆท่านทราบอยู่แล้วว่าไม้จริงแม้จะมีความสวยงาม สามารถทำได้ทั้งฝ้าแบบปิด และฝ้าระแนง แต่ก็มีราคาสูงขึ้นทุกๆวัน อีกทั้งยังมีขีดจำกัดในด้านการป้องกันความชื้น และไม่ค่อยทนไฟ

ในปัจจุบันผู้คนจึงหันมานิยมใช้ไม้เทียมอย่าง ไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite) กันมากขึ้น โดยนิยมกันเป็นอย่างมากในการนำมาทำเป็นฝ้าเพดานโปร่งแบบระแนง ซึ่งวัสดุทดแทนไม้จริงที่ว่านี้จะมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันครับ

ไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite)

ไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต หรือ WPC คือ วัสดุที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนการผลิตไม้พลาสติกคอมโพสิต จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

- การนำไม้ และเม็ด พลาสติกมาผสมกัน

- การขึ้นรูปพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต โดยใช้วิธีต่างๆกัน เช่น การอัด รีดขึ้นรูป (Extrusion) ,การฉีดขึ้นรูป (Injection) และการใช้เครื่องนาบหรือเครื่องกดความร้อนขึ้นรูป (Hot Press)

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังสามารถแบ่งประเภทของส่วนผสมต่างๆ ได้ดังนี้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polyethylene (PE based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polypropylene (PP based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Poly vinyl chrolide (PVC based ) ผสมกับผงไม้

สำหรับขนาดไม้ระแนง WPC สำหรับทำฝ้า (แบบกลวง) ที่นิยมในท้องตลาดนั้นมีหน้าตัดความกว้างตั้งแต่ 2-12เซนติเมตร และมีความยาวตั้งแต่ 1-3 เมตร โดยมีราคาในท้องตลาดตั้งแต่ 200-1,xxx /เส้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาด ลวดลาย และเกรดของไม้ WPC เป็นหลัก

คุณสมบัติเด่น

  • ไม่มีมอด และแมลงรบกวน
  • มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักที่เบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน
  • ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน)
  • มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี
  • ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง
  • สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
  • ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ
  • มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

คุณสมบัติด้อย

  • เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว
  • ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส
  • ไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

 

คลิก! เพื่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไวนิล

4. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไวนิล

แผ่นฝ้าไวนิล เป็นวัสดุทำฝ้าอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในท้องตลาด โดยผลิตมาจาก UPVC หรือ Unplasticised Poly Vinyl Chloride ซึ่งเป็นเนื้ออะคริลิกประเภทหนึ่ง ฝ้าไวนิลมักนิยมนำไปติดตั้งในพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ,อาคารสำนักงาน ,ห้างสรรพสินค้า และอาคารสาธารณะ รวมถึงบ้านพักอาศัยทั่วไป

โดยมีราคาในท้องตลาดตั้งแต่ 350-1,xxx บาท ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับขนาด และลวดลายของแผ่นฝ้าไวนิล ซึ่งมีให้เลือกหลายลวดลาย เช่น ลายไม้ หรือ โทนสีแบบต่างๆ

สำหรับขนาดที่นิยมใช้ตามท้องตลาดมีขนาดตั้งแต่ : กว้าง 14-25 เซนติเมตร หนา 1-8 มิลลิเมตร และมีความยาวมาตรฐาน 4, 5, 6 เมตร (สามารถสั่งความยาวได้สูงสุดถึง 12 เมตร)

คุณสมบัติเด่น

  • ติดตั้งได้ง่าย เพราะมีการออกแบบลักษณะการติดตั้งแบบเข้าลิ้น
  • พื้นผิวมีความราบเรียบสม่ำเสมอ และสามารถใช้ได้ทั้งสองด้าน
  • มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก และทำให้ติดตั้งได้ในเวลาที่รวดเร็ว
  • มีความเหนียว ทนทาน
  • มีคุณสมบัติกันน้ำ กันปลวก
  • มีให้เลือกหลากหลายลวดลาย
  • ดูแลรักษา ทำความสะอาดได้ง่าย 

คุณสมบัติด้อย

  • เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีได้
  • มีขีดจำกัดในเรื่องการอ่อนตัวมากกว่าวัสดุแผ่นอื่นๆ
  • มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุอลูมิเนียม

5. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุอลูมิเนียม

ฝ้าอลูมิเนียม จะมีลักษณะเป็นแผ่นตะแกรง หรือเป็นเส้นยาวคล้ายระแนง ซึ่งผลิตมาจากการนำแร่บอกไซด์มาถลุงจนได้อลูมิน่าบริสุทธิ์ และนำอลูมิน่าเข้าหลอมจนได้เป็นแท่งอลูมิเนียมบริสุทธิ์ แล้วนำไปแปรรูปด้วยแม่พิมพ์ที่มีขนาด และรูปทรงหน้าตัดที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้เส้นอลูลิเนียมโปรไฟล์สำหรับใช้ในงานฝ้าเพดานแต่ละแบบ 

นอกจากนี้วัสดุอลูมิเนียม ยังมีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดสนิม ทนฝน (อลูมิเนียมเกรดสูงๆจะป้องกันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ทนแดด หรือ ความร้อนได้ดี มีมวลโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน จึงคงรูปไม่เกิดการบิดงอ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้งานในการตกแต่งเพดานได้อย่างหลากหลาย มีความสวยงามทันสมัย 

เรามักจะเห็นฝ้าอลูมิเนียมในอาคารขนาดใหญ่ เช่น สถานีขนส่ง อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า หรือ อาคารสาธารณะอื่นๆ เพื่อซ่อนระบบ และติดตั้งไฟส่องสว่าง หรือ อุปกรณ์อื่นๆตามการใช้งานของอาคารนั้นๆ แต่ด้วยความที่มีราคาแพง และเหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่จึงไม่นิยมใช้ในบ้านพักอาศัย

สำหรับขนาด และราคาของฝ้าอลูมิเนียมในท้องตลาดนั้นมีค่อนข้างหลากหลายมากๆ โดยเรทราคาจะขึ้นอยู่กับขนาด เกรดของเนื้ออลูมิเนียม และลักษณะการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีราคาในแต่ละรุ่นที่แตกต่างกันไป

คุณสมบัติเด่น

  • เป้นวัสดุที่ไม่บิดตัว มีความทนทาน ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนานนับสิบๆปี
  • พื้นผิวหน้ามีความเรียบตึง ให้ความสวยงามทันสมัย และมีให้เลือกหลายสี
  • มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก และทำให้ติดตั้งได้ง่ายในเวลาที่รวดเร็ว
  • ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น และไม่เป็นสนิม
  • ดูแลรักษาทำความสะอาด และซ่อมแซมได้ง่าย
  • ทนต่อการลามไฟได้ดีในระดับหนึ่ง

คุณสมบัติด้อย

  • มีขีดจำกัดในการรับแรงกระแทก เมื่อเนื้ออลูมิเนียมได้รับความเสียหายจะซ่อมแซมให้กลับมาสมมาตรเหมือนเดิมได้ยาก
  • อลูมิเนียมเส้น หรือ อลูมิเนียมโปรไฟล์ เป็นวัสดุเนื้อเปราะ ในบางกรณีการใช้งาน จึงไม่สามารถต้านทานแรงดัดเนื่องจากการดัดโค้งในรัศมีแคบๆได้
  • ฝ้าอลูมิเนียมมีราคาค่อนข้างสูง จึงนิยมนำไปใช้ในอาคารขนาดใหญ่

อ้างอิงโดย 

https://www.britannica.com/technology/ceiling

https://en.wikipedia.org/wiki/Ceiling

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ