ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system
ระบบสุขาภิบาลถือได้ว่ามีความสำคัญต่อตัวอาคารในแง่การจัดการระบบน้ำภายในและภายนอกอาคารทุกรูปแบบให้เป็นสัดส่วน ใช้งานได้สะดวกและมีความปลอดภัย อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อผู้ใช้งานภายในอาคารในด้านปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัย
ระบบสุขาภิบาล คืออะไร
ระบบสุขาภิบาล คือ ระบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำภายในอาคาร ตั้งแต่ระบบประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการระบายน้ำเสียที่ใช้แล้ว ยังรวมไปถึงการบำบัดน้ำและการรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การป้องกันการแพร่กระจายของโรคและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
ดังนั้นการจะนําน้ํามาใช้ หรือ การจัดการน้ำเสียทั้งภายในอาคาร และภายนอกอาคารนั้น จะต้องคำนึงถึงการจัดวางระบบระบบสุขาภิบาลที่เป็นกิจลักษณะ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และหลักสุขอนามัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการใช้งาน และสะดวกต่อการบํารุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน
องค์ประกอบพื้นฐานของระบบสุขาภิบาล
ท่อประเภทต่าง ๆ เช่น ท่อประปา ท่อพีวีซี และท่อทองแดง เป็นต้น
- ปั๊มน้ำ
- มาตรวัดน้ำ
- วาล์วน้ำ ก๊อกน้ำ
- บ่อดักไขมัน
- บ่อเกรอะ
- ช่อง/ตะแกรงระบายน้ำ
- สุขภัณฑ์
- ถังบำบัดน้ำเสีย
นอกเหนือจากองค์ประกอบข้างต้นแล้ว ยังสามารถออกแบบองค์ประกอบเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้นได้
ระบบสุขาภิบาล มีกี่ประเภท (Types of Sanitary System)
ตามมาตรฐานการออกแบบที่ใช้ในระดับสากล และในประเทศไทย ระบบสุขาภิบาล สามารถแบ่งออกได้ 7 ระบบ ได้แก่
1. ระบบน้ำดี หรือน้ำประปา (Cold water pipe system)
คือ ระบบท่อที่ใช้งานในการลำเลียงน้ำสะอาดไปใช้งานตามจุดต่าง ๆ ภายในอาคาร เช่น ระบบน้ำประปาสำหรับห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักล้าง หรือ ระบบน้ำดับเพลิงภายในอาคาร เป็นต้น
ระบบประปา ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก ๆ ดังนี้
- ถังเก็บน้ำ
- เครื่องสูบน้ำ
- ท่อส่งน้ำ
- วาล์วและอุปกรณ์ประกอบ
- อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ที่ใช้น้ำ
2. ระบบระบายน้ำโสโครก (Soil pipe system)
คือ ระบบท่อที่นำน้ำเสียที่ถูกใช้งานจากโถส้วม หรือโถปัสสาวะออกจากพื้นที่และนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกอาคาร
3. ระบบระบายน้ำทิ้ง (Waste pipe system)
คือ ระบบท่อที่นำน้ำเสียที่ถูกใช้งานจากกิจกรรมอื่นๆ ออกจากพื้นที่ และนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกอาคาร
4. ระบบบำบัดน้ำเสีย (Water treatment system)
คือ ระบบที่ใช้บำบัดน้ำจากการใช้งานภายในอาคาร ให้มีค่าดัชนีวัดค่าคุณสมบัติต่างๆของน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดก่อนระบายออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ
ประเภทของระบบบำบัดน้ำเสีย
๐ แบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic wastewater treatment)
เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่จุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียไม่ต้องใช้ออกซิเจนในการเติบโตและย่อยสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำเสีย ก๊าซที่เกิดขึ้นในการย่อยสลายประกอบไปด้วย ก๊าซมีเทน (CH₄) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H₂S) ระบบนี้ไม่ต้องเติมอากาศเข้าไป จึงควบคุมง่ายกว่าระบบที่ใช้ออกซิเจน ใช้พลังงานน้อยกว่า มีตะกอนที่ต้องสูบออกน้อยกว่า แต่จะมีค่า BOC ในน้ำที่สูงกว่า 40 มิลลิกรับต่อลิตร อีกทั้งยังใช้พื้นที่ติดตั้งมากกว่าแบบใช้อากาศ
ตัวอย่าง เช่น
- บ่อเกรอะ-บ่อซึม
- บ่อเกรอะ-บ่อกรอง
๐ แบบเติมอากาศ (Aerobic)
เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่จุลินทรีย์ในระบบต้องใช้ออกซิเจนในการเติบโตและย่อยสารอาหารที่อยู่ในน้ำเสีย จึงต้องมีการเติมอากาศเข้าไปในระบบ ทำให้ต้องมีการควบคุมดูแลมากกว่าแบบที่ไม่ใช้ออกซิเจน ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า มีตะกอนที่ต้องสูบออกมาก แต่จะใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย และค่า BOC ในน้ำที่ได้จากการบำบัดจะอยู่ที่ต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร
ตัวอย่าง เช่น
- ระบบเลี้ยงตะกอน (Activated sludge,AS)
- ระบบจานหมุนชีวภาพ (Rotating biological contactor,RBC)
5. ระบบท่อระบายอากาศหรือท่ออากาศ (Vent pipe system)
คือ ระบบท่อที่จะติดตั้งเข้ากับระบบท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาสูญญากาศในเส้นท่อระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้ระบบระบายน้ำในเส้นท่อสามารถระบายน้ำได้สะดวก
6. ระบบท่อระบายน้ำฝน (Rain drainage pipe system)
คือ ระบบท่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำฝนที่เกิดขึ้นกรณีฝนตกออกจากตัวอาคาร ระบายสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ จากทั้งบริเวณตัวอาคาร เช่น หลังคา ดาดฟ้า ระเบียง ฯ และพื้นที่โดยรอบอาคาร เช่น ถนน ทางเดินเท้า เป็นต้น
ตัวอย่างช่องระบายน้ำฝน
๐ ช่องระบายน้ำฝนแบบแบนราบ
- อาจมีปัญหาเรื่องขยะอุดตัน
- ควรติดตั้งในบริเวณที่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้สะดวก
- ลักษณะแบนราบไปกับพื้นทำให้ไม่กีดขวางทางเดินและดูเรียบร้อย
๐ ช่องระบายน้ำฝนแบบรูปโดมเห็ดหรือดอกเห็ด
- ลดปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ระบายน้ำได้สะดวก
- ติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่ค่อยมีผู้เข้าไปใช้งาน หรือเข้าไปดูแลรักษาลำบาก เช่น บนหลังคา ดาดฟ้า เป็นต้น
๐ ช่องระบายน้ำฝนแบบด้านข้าง
- ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถเจาะพื้นเพื่อฝังท่อระบายน้ำได้
- ไม่ควรใช้เป็นช่องรับน้ำฝนหลัก
7. ระบบระบายน้ำภายนอกอาคาร (Building sewer system)
คือ ระบบท่อระบายน้ำบริเวณโดยรอบของอาคาร ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำออกจากบริเวณอาคารเข้าสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ
ท่อของงานสุขาภิบาล
เวลาที่เราเห็นงานระบบจำพวกท่อและมีตัวอักษรเขียนกำกับ เราอาจจะเคยสงสัยว่ามันมีท่ออะไรบ้าง นี่คือความหมายของท่อแต่ละอันครับ
RL = Rain line คือ ท่อระบายน้ำฝน
W = Waste pipe คือ ท่อระบายน้ำทิ้ง
S = Soil pipe คือ ท่อระบายน้ำโสโครก
V = Vent pipe คือ ท่ออากาศ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม