พื้นไม้จริง (Wood Flooring) กับคุณสมบัติที่ควรรู้ก่อนนำไปใช้งาน

วัสดุประเภทพื้นไม้จริง (wood flooring) ที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ยังได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ด้วยลวดลายของผิวสัมผัส และคุณค่าของไม้จริงนั้นก็ ยังไม่มีวัสดุทดแทนตัวใดๆมาแทนได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัสดุทดแทนไม้ ผลิตออกมาใช้กันมากมายในตลาด  บางชนิดมีที่ลวดลายที่มีเสน่ห์ แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้ภายนอกอาคาร หรือ พื้นที่กลางแจ้งได้ เป็นวัสดุที่เหมาะสมเเก่การใช้ภายนอกอาคารโดยเฉพาะ สมัยก่อนบ้านทุกหลัง ไม่ว่าจะเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ ในบ้าน หรือ งานไม้ต่างๆในสวน ก็ล้วนแต่ใช้ไม้จริง

Raw material ลักษณะของพื้นไม้จริง

พื้นไม้ (wood flooring) ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งคนไทยนิยมใช้ไม้มาตั้งแต่สมัยอดีตกาล เนื่องด้วยไม้ในอดีตเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ปลูกทดแทนได้ ไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำพื้นเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้สัก เป็นต้น สามารถนำมาใช้ได้ทั้งบ้านไม้ และบ้านปูน กรณีเป็นบ้านไม้ใช้วิธีตอกยึดกับคานไม้ แต่ปัจจุบันนิยมสร้างบ้านปูนกันมาก โดยทำการเทพื้นคอนกรีตก่อน จากนั้นปูพื้นไม้ทับไปอีกทีด้วยกาวสำหรับงานปูพื้น เนื้อไม้จะให้ผิวสัมผัสที่สบายเท้า สีสันอบอุ่น ดูหรูหราอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนี้ไม้เริ่มหายากจึงมีราคาที่สูงมาก บ้านที่นิยมนำไม้มาเป็นวัสดุปูพื้นจึงมักเป็นบ้านหรู Luxury หรือบ้านชาวบ้านที่นำไม้ปลูกเองในชุมชนมาใช้งาน ส่วนบ้านทั่วไปนิยมใช้วัสดุทดแทนไม้ หรือไม้เทียมนั่นเอง

คุณลักษณะ ขนาด สีและลาย วัสดุ

 

ประเภทของไม้ พื้นไม้ (wood flooring) ​

พื้นไม้ (wood flooring) แบ่งชนิดของไม้ออกเป็น 2 ประเภท คือ ไม้เนื้อแข็ง หรือ Hard wood และไม้เนื้ออ่อน หรือ Soft wood โดยไม้ที่มีใบกว้างเราจะเรียกว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง ในขณะที่ไม้ที่มาจากพืชตระกูลสนเราจะเรียกว่า ไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในความเป็นจริง ไม้ในกลุ่มหลังนี้ก็มีความแข็งที่สามารถจัดเข้ากลุ่มแรกได้ สำหรับในประเทสไทยได้มีการแยกประเภทไม้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลักษณะความแข็ง แรงของไม้ดังนี้

- ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่ทำงานได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือ ค่อนข้างซีด อาทิ ไม้กระบาก ไม้ยาง ไม้ฉำฉา ไม้เหียง ไม้โมก ไม้กระท้อน ไม้ยมหอม ไม้จำปาป่า ไม้สนต่างประเทศ เหมาะกับงานในที่ร่มหรืองานชั่วคราว งานตกแต่ง และเครื่องมือเครื่องใช้

- ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า คือต้องมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้จะมีเนื้อมัน ลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เช่น ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ ไม้มะเกลือ เป็นต้น เหมาะสำหรับงาน เฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้างบ้าน และเครื่องมือ

- ไม้เนื้อแกร่ง เป็นไม้ที่มีการเจริยเติบโตช้ามาก จึงทำให้ วงประจำปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก คือ ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 60-70 ปีขึ้นไปจึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักไม่มาก แต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างหรือเป้นโครงสร้าง อาทิ คาน ตง เสา ได้แก่ ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง ไม้เต็ง

ชนิดของไม้ที่นิยมใช้

ในบรรดาไม้ประเภทต่างๆ มีไม้เพียงไม่กี่ชนิด ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการก่อสร้างและ เครื่องเรือน

- ไม้สัก เป็นไม้เนื้อละเอียด นิ่ม ง่ายต่อการใช้เครื่องมือ ไม้มีกำลังและแข็งพอประมาณ แต่ค่อนข้างเปราะ ปลวกไม่กิน เลื่อยผ่าซอยง่าย บิดตัวและงอเล็กน้อยเมื่อแห้ง ไม้สักมีหลายชนิด และมีลักษณะคล้ายกัน เช่น สักทอง และสักขึ้ควาย โดยสักทองจะมีสีเหลืองสวย ส่วนสักขึ้ควายจะมีสีคล้ำและลวดลายสับสน เหมาะในการนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เช่นตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เรือ หรือทำประตูหน้าต่าง

- ไม้ยาง เป็นไม้เสี้ยนใหญ่ หยาบ และอ่อน เหมาะกับการใช้ในที่ร่ม เนื่องจากมียางมาก แห้งตัวช้า และยือหดตัวสูง เมื่อหดตัวยางจะปะทุออกจากเนื้อไม้ เมื่อตอกตะปู เนื้อไม้จะแตกได้ง่าย เลื่อยซอยง่าย เนื้อไม้สีแดงเข้มจะแข็งแรงกว่าไม้สีอ่อน

- ไม้เต็ง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างแห้ง และละเอียด ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ เมื่อหดตัวมักแตกเป็นลายงา เลื่อยตัดยากเมื่อแห้ง เหมาะกับงานภายนอก และส่วนที่ใช้รับน้ำหนักหรือเป็นโครงสร้าง เช่น เสา คาน ตง สะพาน บันได

- ไม้รัง เนื้อละเอียดปานกลาง สีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อไม้ เมื่อแห้งแตกค่อนข้างน้อย คุณสมบัติอื่นๆ เหมือนไม้เต็ง

- ไม้แดง เนื้อไม้แน่น สีแดง ลวดลายสวย แข็งแรง ทนทาน ทำให้ตัดเจาะยาก ใช้ทำโครงสร้างอาคาร เช่น เสา คาน ตง และเครื่องเรือนพิเศษ เพราะรับน้ำหนักได้ดี และไม่ยึดหดตัวมาก

- ไม้ตะแบก เนื้อไม้สีเทาอมเหลือง เนื้อละเอียดใสและขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน ทำให้ตกแต่งง่าย เหมาะในการก่อสร้างบ้าน และทำด้ามเครื่องมือ

- ไม้มะค่าโมง มีสีน้ำตาลปนแดง มีความแข็วแรงทนทาน เมื่อกลึงจะเห็นลวดลายสวยงาม เหมาะสำหรับทำบันไดหรือเป็นโครงสร้าง

ไม้ทุกชนิดที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำไปแปรรูปได้ทั้งไม้พื้น ซึ่งแต่ละประเภทต่างก็มีขนาดที่ต่างกัน ดังนี้

ขนาดไม้พื้น (หนา x กว้าง)

1 x 4 นิ้ว

1 x 6 นิ้ว

1 x 8 นิ้ว

1 1/2 x 12 นิ้ว

1 1/2 x 14 นิ้ว

1 1/2 x 16 นิ้ว

ส่วนความยาวมีตั้งแต่ : 1 เมตร, 1.20 เมตร, 1.50 เมตร, 2 เมตร, 2.50 เมตร และ 3 เมตร

 

การติดตั้ง พื้นไม้จริง

 

ขั้นตอนการติดตั้งพื้นไม้จริง แบบทั่วไป (Wood Flooring) 

ขั้นตอนการติดตั้งไม้พื้นทั่วไป

- การวางคานไม้ เริ่มจากการทำคานไม้ขนาดหนา 1 นิ้ว กว้าง 2 นิ้ว หรือ หนา 1 นิ้ว กว้าง 3 นิ้ว แล้วยึดไม้คานกับพื้นด้วยตะปู โดยวางให้มีระยะห่างกัน 30, 40 หรือ 50 ซม. ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

- การเตรียมพื้นผิว เทปูนให้ได้ความสูงเสมอคาน โดยระวังอย่าเทให้กลบไม้คาน

- การวางไม้พื้น ก่อนจะวางไม้พื้นจะเลือกทากาวบางๆ แบบเต็มพื้นที่พรือจะทาเฉพาะบริเวณหัว-ท้ายของแผ่นไม้ หรือจะทาเฉพาะตรงลิ้นไม้ก็ได้ จากนั้นวางไม้พื้นลงในแนวขวางกับไม้คาน แล้วยึดไม้พื้นกับคานด้วยสกรู (ห้องที่มีขนาดเล็กไม่ควรเลือกปูด้วยไม้ขนาดใหญ่เพราะจะทำให้ห้องยิงดูแคบลง ควรปูไม้ขนาด 1 นิ้ว x 4 นิ้ว x 1 เมตร)

- ขัดหน้าไม้ ขัดเสี้ยนและบริเวณรอยต่อของไม้ให้เรียบเสมอกัน

- รองพื้นด้วยยูริเทน ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปูปาร์เก้

- ทาทับด้วยสีย้อมไม้ ซึ่งมีให้เลือกด้วยกัน 3 ชนิด คือ ชนิดด้าน ชนิดกึ่งเงา และชนิดเงา

 

ขั้นตอนการติดตั้งพื้นไม้ แบบพื้นปาร์เก้

- การเตรียมพื้นผิว เตรียมพื้นผิวปูนให้มีความเรียบมากที่สุด โดยต้องไม่เป็นแอ่งกระทะ หลังเต่า หรือขรุขระ และพื้นปูนต้องสะอาด แห้งสนิท ไม่ชื้น

- ปูปาร์เก้ ทากาวลงบนพื้นปูนด้วยกาวที่ใช้สำหรับการปูปาร์เก้เท่านั้น เสร็จแล้วจึงนำปาร์เก้ปูลงทับ ทิ้งไว้จนกาวแห้งสนิทประมาณ 7-10 วัน ให้กาวและปาร์เก้ได้เกาะกันจนแห้งสนิท (ห้องที่มีขนาดเล็กไม่ควรปูด้วยไม้ขนาดใหญ่และยาว เพราะจะยิ่งทำให้ห้องดูเล็กและแคบลงกว่าเดิม ควรเลือกปูไม้ที่มีขนาด 1 x 2 x 12 นิ้ว จะช่วยทำให้ห้องดูกว้างยิ่งขึ้น)

- ขัดหน้าไม้ ขัดเสี้ยนและบริเวณรอยต่อของไม้ให้เรียบเสมอกัน

- รองพื้นด้วยยูริเทน ก่้อนลงยูริเทนควรเก็บเศษไม้และเช็ดพื้นให้สะอาด พยายามอย่าให้มีเศษผงของไม้หลงเหลืออยู่ เพราะเศษผงของไมม้จะทำให้เมื่อทายูริเทนลงไปแล้วพื้นผิวจะไม่เรียบ เวลาเดินจะรู้สึกเหมือนมีเศษฝุ่นผงติดอยู่ที่พื้นตลอดเวลา (3 สาเหตุหลักที่ทำให้พื้นไม่เรียบหลังจากปูปาร์เก้แล้ว คือ 1. เช็ดเศษฝุ่นไม้ไม่สะอาด 2. เปิดหน้าต่างขณะทาทำให้ฝุ่นละอองและฝุ่นต่างๆ สามารถปลิวเข้ามาและจับตัวอยู่ที่บริเวณพื้นผิวได้ 3. ยูริเทนเป็นฟอง)

- ทาทับหน้าด้วยสีย้อมไม้ ซึ่งมีให้เลือกด้วยกัน 3 ชนิด คือ ชนิดด้าน ชนิดกึ่งเงา และชนิดเงา 

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

#Wazzadu #WazzaduEncyclopedia #WazzaduAcademy #Wood #ไม้ #ArchitectureDesign #InteriorDesign #material #Woodfloor #พื้นไม้ #วัสดุ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ