หลักการออกแบบสวนดาดฟ้า : การจัดเตรียมพื้นที่ดาดฟ้า การเลือกประเภทพรรณไม้ วัสดุตกแต่ง และข้อควรระวัง

ROOF GARDEN DESIGN

ดาดฟ้าอาคารไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นหลังคา หรือ ชั้นวางแทงค์น้ำเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากอาคารนั้นๆได้รับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ได้มาตรฐานมาตั้งแต่ต้นก็สามารถประยุกต์พื้นที่ดาดฟ้า ให้กลายเป็นพื้นที่สวนขนาดย่อมสำหรับการพักผ่อนสุดชิล ที่สามารถรองรับกิจกรรมการใช้งานแบบต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน ย่างบาร์บีคิว หรือจัดปาร์ตี้ ก็ได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งรูปแบบของการจัดสวนบนดาดฟ้านั้น จะต้องมีองค์ประกอบข้อพิจารณาต่างๆ รวมถึงข้อควรระวัง ซึ่งล้วนมีผลต่อตัวอาคาร และความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารโดยตรง ซึ่งหลักการออกแบบสวนบนดาดฟ้า จะมีองค์ประกอบการออกแบบที่สำคัญอะไรบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ

การจัดเตรียมพื้นที่ดาดฟ้า​

โครงสร้างอาคารที่เหมาะสม

โครงสร้างสำหรับอาคารที่จะทำสวนบนดาดฟ้านั้น จะต้องรับน้ำหนักได้ 1-2 ตัน /ตรม.เพราะน้ำหนักของต้นไม้ ดิน ของตกแต่งสวน และน้ำที่รดลงไป จะมีน้ำหนักรวมหลายตัน ฉะนั้นจึงต้องมั่นใจว่าโครงสร้างอาคารจะมีความแข็งแรง และปลอดภัยมากพอที่จะรับน้ำหนักโหลด ซึ่งถ้าเป็นอาคารที่สร้างใหม่ควรออกแบบโครงสร้าง และการกระจายพื้นที่รับน้ำหนักโหลดสำหรับพื้นที่สวนดาดฟ้าไว้ตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหากเป็นการปรับปรุงต่อเติมจากอาคารเก่าควรปรึกษาวิศวกร เพื่อคำนวนโครงสร้างในการรับน้ำหนักเดิมที่มีอยู่ว่าปลอดภัยหรือไม่ สามารถใช่โครงสร้างเดิมได้ หรือ ต้องเพิ่มโครงสร้าง นอกจากนี้ยังต้องปรึกษากับผู้ออกแบบ Landscape อย่างถี่ถ้วน เพื่อหารูปแบบ Landscape ที่มีรูปแบบเหมาะสมกับสภาพอาคาร เช่น การใช้ไม้กระถางที่มีน้ำหนักเบา หรือเปลี่ยนจากหญ้าจริงที่ชั้นดินมีน้ำหนักมาก เปลี่ยนเป็นหญ้าเทียมที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น

ตำแหน่งการจัดวางวัตถุ และการกระจายน้ำหนักในจุดที่เหมาะสม

ถ้าหากต้นไม้ หรือ อุปกรณ์ตกแต่งมีขนาดน้ำหนักค่อนข้างมาก ควรจัดวางตำแหน่งไว้ในบริเวณรัศมี 1 เมตร รอบบริเวณหัวเสา หรือ ช่วงคานพาดผ่าน ซึ่งไม่ควรจัดวางวัตถุที่มีน้ำหนักโหลดมากๆไว้ที่จุดกึ่งกลางของพื้นเพียวๆโดยไม่มีโครงสร้างพาดผ่าน เพื่อป้องกันการวิบัติของพื้นในลักษณะทะลุลงมา

การระบายน้ำ

การระบายน้ำมีความสำคัญมาก ต้องมีระบบการระบายน้าที่ดี ทั้งการวางท่อ และจุดระบายที่เหมาะสม (ควรมีอย่างน้อย 2 จุด) และจะต้องมีระบบ Overflow เผื่อไว้เวลาที่ท่อหลักตัน ซึ่งในกรณีที่มีสวนบนดาดฟ้ามักจะเกิดจากใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นไปกองอุดตันที่ปากท่อระบายน้ำ จนน้ำระบายไม่ทันในเวลาที่ฝนตกหนัก ซึ่งถ้าไม่มีระบบ Overflow น้ำจะทะลักผ่านช่องว่างต่างๆเข้าสู่อาคาร โดยผนัง และฝ้าเพดานที่อยู่ในชั้นด้านล่างจะได้รับความเสียหายทันที

เตรียมระบบระบายน้าหลัก และระบบ Overflow ระบายน้ำสำรองให้เพียงพอ ซึ่งจะต้องสามารถตรวจเช็คได้ตลอดเวลา โดยไม่ให้ดิน หรือ เศษใบไม้ มาอุดตัน หรือ ปิดทับจนมองไม่เห็น ซึ่งจะทำให้รูระบายอุดตัน ในกรณีที่ท่อหลักอุดตัน และไม่มีระบบ Overflow จะไม่สามารถระบายน้ำในยามที่ฝนตกหนักได้ทันท่วงที โดยน้ำจะใหลทะลักเข้าท่วมชั้นด้านล่างอย่างรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มภาระให้กับโครงสร้างอาคารที่ต้องรับน้ำหนักโอเวอร์โหลดเพราะน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน

ระบบน้ำประปา สำหรับรดน้ำต้นไม้

ควรมีก็อกน้ำอย่างน้อย 2 จุด โดยจะใช้การรดแบบสายยาง หรือ ใช้ระบบให้น้ำอัติโนมัติก็ได้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือ ความเหมาะสมของพื้นที่ 

ระบบกันซึม

ผนัง และพื้นชั้นดาดฟ้า ต้องเป็นระบบกันซึมเท่านั้น เนื่องจากการทำสวนบนดาดฟ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงใความชื้นสะสมในจุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ถ้าหากไม่มีการป้องกันด้วยระบบกันซึมที่ดีพอ ความชื้นจะซึมผ่านเข้าไปที่เนื้อคอนกรีตจนทำให้สีผนังหลุดร่อน หรือทำให้ฝ้าเพดานเสียหายได้ และที่อันตรายไปกว่านั้น ถ้าหากความชื้นซึมเข้าไปถึงเนื้อเหล็กเสริมในโครงสร้าง จะทำให้อายุการใช้งานของโครงสร้างอาคารลดน้อยลง และอาจจะได้รับความเสียหายจนก่อให้เกิดอันตรายได้ในอนาคต

ความลึกของกระบะดิน

บนชั้นดาดฟ้าต้องมีกระบะดินที่มีความลึกอย่างน้อย 40 ซม. จนถึง 1 เมตร จึงจะทำให้มีชั้นดินเพียงพอกับการยึดเกาะของรากไม้ โดยความลึกของกระบะดินจะพิจารณาจากรูปแบบ และความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารนั้นๆตามความสัมพันธ์ของขนาดการรับแรงโหลด ที่ได้รับการคำนวณอย่างถูกต้องจากวิศวกรแล้ว

การจัดวางตำแหน่งปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟ และการเดินสายไฟ

ชั้นดาดฟ้าจัดเป็นพื้นที่กึ่งในร่ม กึ่งกลางแจ้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะโดนฝนได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างมากในการวางระบบไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ การเลือกตำแหน่งก็ต้องดูตำแหน่งที่ปลอดภัย สูงพ้นระดับน้ำขัง แดดส่องไปไม่ถึง ไม่มีน้ำไหลผ่าน ไม่โดนฝนสาด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยไปอีกขั้น ควรเลือกปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟ แบบมีฝากครอบปิดด้านหน้าอีกชั้นหนึ่ง ส่วนสายไฟต้องติดตั้งให้พ้นระดับน้ำขัง โดยเลือกชนิดที่ระบุว่าใช้กับภายนอกอาคาร เพราะจะแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ  ควรจะร้อยสายใส่ท่อให้เรียบร้อย จะสามารถป้องกันความร้อน ความชื้น หรือป้องกันพวกหนู แมลงกัดแทะสายไฟ แล้วก็ควรจะมีเบรกเกอร์ตัดไฟติดตั้งไว้เผื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร เบรกเกอร์จะได้ตัดไฟให้ทันที

การเลือกประเภทพรรณไม้ ,วัสดุตกแต่ง และอุปกรณ์ที่เหมาะกับการจัดสวนดาดฟ้า

ของตกแต่ง และอุปกรณ์

วัสดุตกแต่ง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดสวนดาดฟ้า ควรมีน้ำหนักเบา เช่น ประติมากรรม หรือ หินประดับควรใช้เป็นหินเทียมทำสีที่ผลิตจากไฟเบอร์กลาส หรือลดปริมาณหญ้าจริงลงเพราะความหนาชั้นดินของหญ้ามีน้ำหนักมากพอสมควร แล้วสลับเปลี่ยนกับหญ้าเทียมที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงการใช้ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางขนาดย่อมแซมกับต้นไม้ที่ปลูกลงในกระบะดิน เป็นต้น หรือ ถ้าหากมีความจำที่ต้องใช้วัสดุ หรือ อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ควรกระจายตำแหน่งการจัดวางเพื่อลดแรงกดของน้ำหนักที่มีต่อพื้นชั้นดาดฟ้า 

วัสดุตกแต่งทางสถาปัตยกรรม

ในการตกแต่งสวนกลางแจ้งบนดาดฟ้า สามารถแบ่งรูปแบบการใช้วัสดุตามความเหมาะสมกับพื้นที่การใช้งานได้หลักๆดังนี้

- Outdoor

วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งส่วนพื้นที่กลางแจ้งควรเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติทนแดด ทนฝน ได้ดีโดยต้องมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3-5 ปีขึ้นไป เช่น หินสังเคราะห์ ,หญ้าเทียม หรือ พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต ฯลฯ  ซึ่งวัสดุที่กล่าวมาในข้างต้นค่อนข้างมีน้ำหนักเบา ซึ่งจะช่วยรลดภาระในการรับแรงโหลดให้กับโครงสร้างได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การปูพื้นในส่วนกลางแจ้งด้วยกระเบื้อง ควรเลือกใช้กระเบื้องที่มีผิวหยาบ ซึ่งจะช่วยกันลื่น และเพิ่มความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น

- Indoor

วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งส่วนพื้นในร่ม การจะต่อเติมหลังคา หรือกันสาดเพื่อใช้สำหรับบังแดดควรใช้โครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา เช่น เหล็กซี  เหล็กกล่อง และอะลูมิเนียมลวดลายต่างๆ เป็นต้น ในส่วนของแผ่นหลังคาสามารถเลือกได้หลายแบบแต่ไม่ควรมีน้ำหนักมากเกินไป เช่น หลังคาเมทัลชีต ,โพลีคาร์บอเนต (มีความโปร่งแสง) หรือ แผ่นอะคริลิค (มีความโปร่งแสง) เป็นต้น ด้วยความที่วัสดุแผ่นหลังคามีน้ำหนักค่อนข้างเบา และอยู่ในที่สูง โดยเป็นส่วนที่ต้องปะทะกับลมตลอดทั้งวัน ฉะนั้นในการติดตั้งควรยึดติดกับโครงสร้างให้แน่นหนามากเป็นพิเศษ สำหรับบางท่านอาจไม่ต้องการให้ฝนเข้า หรือ ต้องการพื้นที่การใช้งานแบบ Multifunction จะเปิดรับลม ชมวิว หรือ ปิดกันฝนก็ได้ ควรติดตั้งประตูบานเลื่อน หรือ ประตูบานเฟี้ยมกระจกกรอบอะลูมิเนียมจะใช้งานได้สะดวก นอกจากนี้ในส่วนของการทำที่นั่ง หรือ Counter Bar แบบ Built in ควรใช้โครงที่มำน้ำหนักเบา เช่น โครงเหล็ก หรือ โครงไม้ และถ้าหากจะตกแต่งเพิ่มความสวยงาม สามารถนำวัสดุลามิเนต หรือ วีเนียร์ที่มีคุณสมบัติป้องกันความชื้นได้ดีมาปิดผิวทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันวัสดุลามิเนต และวีเนียร์นั้นมีหลากหลายลวดลายให้เราได้เลือก อีกทั้งยังสามารถใช้ปิดผิวส่วนอื่นๆภายพื้นที่ Indoor เพื่อใช้แทนวัสดุไม้จริงได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยสร้าง Mood & Tone ที่ผสมผสานเข้ากับ Roof Garden ได้อย่างลงตัว

การเลือกชนิดของพรรณไม้

การเลือกพรรณไม้ ควรเป็นพรรณไม้ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือ สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างอาคาร และในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเลือกพรรณไม้ที่มีรากน้อยจนเกินไป เพราะจะไม่สามารถต้านทานลมฝนได้นั่นเอง

ขนาด และทรงพุ่มกับข้อควรระวัง

บนชั้นดาดฟ้าเป็นชั้นที่ต้องรับแรงปะทะของลมฝนโดยตรง ฉะนั้นการเลือกขนาดทรงพุ่มของต้นไม้ จึงไม่ควรเลือกพรรณไม้ที่มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หรือ มีขนาดความสูงที่ใหญ่โตมากจนเกินไป เพราะรากจะไม่สามารถยึดเกาะชั้นดินที่มีขนาดจำกัดบนชั้นดาดฟ้าได้อย่างเต็มที่ เพราะลักษณะชั้นดินจะไม่ลึกมากเหมือนชั้นดินธรรมชาติ จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้ต้นไม้ที่มีขนาดพุ่มที่ใหญ่โตปลิวไปตามแรงลมได้ง่าย และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบๆอาคาร รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการเลือกพรรณไม้ที่เหมาะสม

ขนาดของรากไม้ที่เหมาะสม

ควรเลือกพรรณไม้ที่มีระบบรากเป็นรากฝอยซึ่งมีความแข็งแรงในการยึดเกาะดิน มากกว่าพรรณไม้ระบบรากแก้ว ฉะนั้นการเลือกพรรณไม้ควรเลือกจากการปลูกด้วยกิ่งตอนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเหมาะกับลักษณะสภาพแวดล้อมในที่สูง เช่น ชั้นดาดฟ้า เป้นต้น

ลักษณะกิ่ง ก้าน ใบ ของพรรณไม้ที่เหมาะสม 

การเลือกพรรณไม้เพื่อปลูกในที่สูงอย่างพื้นที่ดาดฟ้า แสงแดด ลม และพายุฤดูมรสุม คือปัจจัยสำคัญที่จะต้องระวังตลอดทั้งปี ฉะนั้นควรเลือกพรรณไม้ที่มีลักษณะใบหนาละเอียด และมีขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการพัดกรรโชกของลม ซึ่งลักษณะใบที่หนาละเอียด และมีขนาดเล็ก จะทำให้ใบมีความแข็งแรงไม่ฉีกขาดเมื่อปะทะกับกระแสลมกรรโชก 

การเลือกพรรณไม้ให้สามารถรับมือกับแดด ลม และพายุฤดูมรสุม  

แดดจัด ลมแรง และพายุฤดูมรสุม เป็นสภาพอากาศที่เห็นได้ทั่วไปบนดาดฟ้าตึกตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงก่อนที่คิดจะทำสวนบนดาดฟ้า พรรณไม้ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกก็ควรเป็นต้นไม้ที่ทนแดดทนฝน อดน้ำได้ 3-4วัน (กรณีที่เราไม่อยู่จะได้ไม่กังวลว่าต้นไม้จะตายไหมเมื่อขาดน้ำ) ไม่ควรเลือกพรรณไม้ที่มีพุ่มใบแผ่กว้าง หรือ พุ่มมีความหนาแน่น เพราะลักษณะพุ่มที่ใหญ่ และหนาจะกลายเป็นแนวต้านลมกรรโชก ซึ่งอาจจะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้โดนลมพัดกระชากจนใบแตกขาดเป็นริ้วๆ  และที่ร้ายแรงกว่านั้นลมอาจจะพัดโยกต้นไปมาจนถอนรากถอนโคนต้นไม้ขึ้นมาได้ ฉะนั้นควรเลือกพรรณไม้ที่มีลักษณะใบหนาละเอียด มีขนาดเล็ก และมีกิ่งก้านที่แข็งแรง ใบร่วงไม่บ่อย ซึ่งช่วยลดปัญหาการเก็บกวาดทำความสะอาดบ่อยๆได้ 

ข้อควรระวัง เพื่อความความปลอดภัย

- ตำแหน่งปลูกหรือวางกระถางต้นไม้ไม่ควรตั้งไว้ในตำแหน่งที่ตัวเราจะต้องออกไปนอกตัวอาคาร เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเวลาที่ออกมารดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินหรือเปลี่ยนกระถาง และเพื่อความปลอดภัยของผู้คนที่เดินอยู่ข้างล่าง 

- ในกรณีที่เป็นตึกแถว ควรระวังไม่ให้กิ่งก้าน หรือ พุ่มไม้ยื่นไปยังรัศมีขอบเขตพื้นที่อาคารของผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งถือว่าผิดกฏหมาย และพื้นที่อาคารของผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงอาจได้รับความสกปรกจากเศษใบไม้ หรือ ผลอื่นๆที่จะตามมาได้ 

- ในกรณที่เป็นอาคารเก่า ถ้าหากอยากจะทำสวนบนชั้นดาดฟ้า ควรปรึกษาวิศวกรโครงสร้างอย่างเคร่งครัด เพื่อประเมิณสภาพอาคารว่าสามารถรับน้ำหนัก หรือ แรงโหลดเพิ่มได้ไหม เพราะแต่เดิมอาคารที่ใช้งานมานานมักไม่ได้ออกแบบเผื่อการทำสวนบนดาดฟ้า ประกอบกับสภาพอาคารที่ใช้งานมานานอาจทำให้โครงสร้าง หรือ องค์ประกอบอื่นๆสึกหรอไปบ้าง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถ้าหากเราต่อเติมทำสวนบนชั้นดาดฟ้าโดยไม่ปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง

แปล และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- Architect Data

วัสดุเทียบเคียงในหมวด "วัสดุสำหรับการตกแต่งสวน และพื้นที่กลางแจ้ง"

สินค้าเทียบเคียงในหมวด"พื้นไม้เทียม"

สินค้าเทียบเคียงในหมวด"วีเนียร์ - วัสดุปิดผิวผนัง"

สินค้าเทียบเคียงในหมวด"หญ้าเทียม - วัสดุปูพื้น"

ไอเดียการออกแบบตกแต่งพื้นที่สวนแบบต่างๆ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ