รวมข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย วัสดุปิดผิวแต่ละประเภท

" รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ และข้อดี - ข้อเสีย วัสดุตกแต่งปิดผิว 10 ประเภท " ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

ไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) คืออะไร

วีเนียร์ คือ วัสดุปิดผิวที่ทำมาจากเยื่อไม้แผ่นบางๆที่ฝานมาจากท่อนซุง แล้วนำมาอบ และอัดต่อกันเป็นแผ่น ด้วยความหนาไม่เกิน 3 มม. ซึ่งให้ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติสวยงามไม่ต่างจากไม้จริง ในปัจจุบันการผลิตไม้วีเนียร์มากกว่า 90% ผลิตมาจากแหล่งป่าปลูกที่มีการจัดการไม้อย่างยั่งยืนเป็นระบบ ไม้วีเนียร์จึงเป็นวัสดุปิดผิวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งที่มาของป่าปลูกทดแทนจนถึงกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานน้อย

Material Type : ประเภทไม้วีเนียร์

- Natural Colour เป็นไม้วีเนียร์โทนสีธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งโทนครีมอ่อนๆ โทนน้ำตาล และโทนที่เห็นลายไม้ชัดเจน เช่น Ash, Oak, Maple, Beech ,Walnut, Cheery, Mahogany หรือ  Zebrano เป็นต้น

- Recomposed Colour  เป็นการนำไม้วีเนียร์มาจัดเรียงลวดลาย และสีของชั้นไม้ แล้วย้อมสีจัดเรียงใหม่โดยไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของสี และลวดลายไม้ได้ จากนั้นนำเข้ากระบวนการบีบอัดเพื่อนำมาตัดขวาง ซึ่งจะทำให้เกิดลวดลายใหม่ และมีสีสันที่แปลกตา 

- Fashion Colour  เป็นการสร้างลวดลายให้ดูแปลกตา โดยการนำวีเนียร์ไปย้อมสีในโทนต่างๆ เช่น แดง, ชมพู, เขียว, ฟ้า, น้ำเงิน เป็นต้น

- Fancy Block Colour  เป็นการนำวีเนียร์หลายชนิดมาผสมผสานกันให้เหมือนบล็อคไม้ที่เรียงต่อกันในโทนสีที่ตัดกันไปมา ซึ่งให้ความสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ 

- Woven Veneer เป็นการนำเอาไม้วีเนียร์มาเรียงสานกันแบบตารางหมากรุก เมื่อมองเผินๆจะมีลักษณะคล้ายลวดลายของเครื่องจักรสาน หรือ ที่เรียกว่าลายขัด โดยพื้นผิวจะนูนขึ้นมา จึงให้มิติการสัมผัสที่แตกต่างจากวีเนียร์แบบอื่นๆ

- Banding Inlay Veneer เป็นการนำเอาไม้วีเนียร์มาสร้างเป็นลวดลายสลับสีเป็นเส้นแถบยาวๆ เรียกว่าเส้นอินเลย์  โดยนำไปตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ด้วยการเจาะร่องชิ้นงาน และฝังเส้นอินเลย์ลงไป  มีขนาดหน้ากว้างตั้งแต่ 3 มม. ไปจนถึง 150 มม. และยาวเฉลี่ยเส้นละ1.20 เมตร

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

ไม้วีเนียร์ ทำมาจากเยื่อไม้แผ่นบางๆซึ่งได้จากการกระบวนการผลิต โดยการนำไม้ซุงท่อนมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ด้วยความหนาตั้งแต่ 0.3 มม.ไปจนถึง 3 มม. ซึ่งวิธีการฝานไม้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะกลั่นกรองความสวยงามของลายไม้ให้ปรากฏออกมา ทั้งปัจจัยในด้านความสวยงาม เช่น สีสัน ลวดลาย หรือปัจจัยในด้านรอยตำหนิของไม้ธรรมชาติ เช่น เกรนไม้ (Grain) หรือ ฟิคเกอร์ไม้ (Figure) จากนั้นจึงนำเยื่อไม้แผ่นบางๆไปเข้าเครื่องอบเพื่อนำความชื้นออกจากไม้ แล้วจึงนำแผ่นวีเนียร์ที่มีขนาดหน้ากว้างที่ไม่มากนักมาต่อลวดลายเป็นแผ่นที่ใหญ่ขึ้น

Benefit : ข้อดี

- ให้ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติสวยงามไม่ต่างจากไม้จริง

- ให้ Feeling ในการสัมผัสที่ดี เหยียบแล้วไม่กรอบแกรบ

- มีลวดลายให้เลือกอย่างหลากหลาย เข้ากันได้กับงานออกแบบหลากสไตล์

- ทำความสะอาดได้ง่าย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

- สามารถซ่อมแซมแก้ไขพื้นผิวได้ง่าย และหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด

Disadvantage : ข้อเสีย

- ใช้งานได้เฉพาะในพื้นที่ร่ม หรือ ภายในอาคารเท่านั้น 

- ไม่ทนต่อรอยขูดขีด

- ถ้าหากโดนน้ำ หรือ ความชื้น จะทำให้แผ่นวีเนียร์ลอก และมีอายุการใช้งานที่ลดลงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

- ไม่ค่อยทนไฟ

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะสำหรับนำไปใช้ติดตั้งปิดผิวบนวัสดุจำพวกไม้อัด ,ปาร์ติเกิลบอร์ด ,แผ่นMDF ,HDF หรือ  Blockboard จนได้พื้นผิวตามขนาดของไม้นั้นๆ(ใช้กาวเป็นตัวยึดประสาน) แล้วเคลือบผิวด้วยแล็กเกอร์หรือยูรีเทนป้องกันการขีดข่วน เหมาะกับการปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน รวมถึงงานตกแต่งต่างๆภายในอาคาร

หินอ่อน (Marble)​ คืออะไร

หินอ่อน คือหินเนื้อละเอียดที่เกิดจากการตกผลึกตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการทับถมของชั้นแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) ที่ตกตะกอนสะสมอยู่ในท้องทะเล หรือมหาสมุทร กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หรือ ทางธรณีวิทยา โดยมีการเคลื่อนไหวของพื้นดินใต้ท้องทะเลเกิดการยุบตัว สลับกับการดันตัวขึ้นในบริเวณนั้น 

จึงทำให้บริเวณท้องทะเลดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ ที่โผล่พ้นน้ำ บางจุดมีลักษณะเป็นภูเขา หรือ ผาหินขนาดใหญ่จนกลายเป็นแหล่งหินอ่อน (หรือกล่าวอย่างง่ายๆก็คือ พื้นที่ ที่เคยอยู่ในน้ำทะเลจะดันตัวขึ้นมาจนโผล่พ้นน้ำอยู่บนบก พื้นที่ ที่เคยอยู่บนบก จะยุบตัวลงกลายเป็นท้องทะเล) ซึ่งหินอ่อนที่เกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตเพียงอย่างเดียวจะมีลวดลายสีขาว เทา น้ำตาล ชมพู เขียวผสมขาว ฯลฯ โดยอาจมีก้อนสี หรือ เส้นสีที่เกิดจากสายแร่ หรือคาร์บอนเจือปน ซึ่งหินอ่อนที่เกิดจากลักษณะเช่นนี้จะพบมากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางจังหวัดของภาคใต้ ในประเทศไทย

แต่การที่จะทำให้เกิดหินอ่อนธรรมชาติที่มีลวดลายสวยงาม เนื้อหินมีความละเอียด หรือ มีผลึก รวมถึงสีขาวขุ่นที่พิเศษแตกต่างจากหินอ่อนที่เกิดจากการตกตะก่อนเพียงอย่างเดียว จะต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย เช่น ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยาโดยถูกแมกมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลไหลออกมาทับชั้นตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่ตกตะกอนสะสมอยู่ในท้องทะเล ซึ่งแมกมาที่ไหลออกมานั้นเต็มไปด้วยความร้อน ความดัน และก๊าซต่างๆ เมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตจึงทำให้เกิดการละลายตกผลึกเป็นหินอ่อนที่มีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมาได้ในที่สุด

ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่ามีการสั่งหินอ่อนเข้ามาจากประเทศอิตาลี เนื่องจากสีของหินอ่อนที่มาจากอิตาลีเกิดจากปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่มีความหลากหลายผสมผสานกัน จึงทำให้มีผลึก และลวดลายที่งดงามต่างจากหินอ่อนในประเทศไทย หรือหินอ่อนที่มาจากแหล่งอื่นๆที่มักจะเกิดจากการตกตะกอนแบบธรรมดาเพียงอย่างเดียว ประกอบกับหินอ่อนในประเทศไทยมีลวดลายไม่ชัดเจน มักมีหินอื่นเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก สีของลายจึงไม่สม่ำเสมอ เมื่อนำมาปูพื้นเป็นพื้นที่สเกลใหญ่ๆ มักเกิดการเพี้ยนของสี แม้จะเป็นหินอ่อนที่มาจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้นเวลาใช้หินอ่อนปูพื้น ในขนาดสเกลใหญ่ๆจึงมีผู้นิยมใช้หินอ่อนที่สั่งจากต่างประเทศมากกว่าในไทย

Raw Material : ส่วนประกอบหลัก

เนื้อหินอ่อนมีแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) เป็นส่วนประกอบหลัก โดยอาจมีเศษหิน ,เส้นคาร์บอน และสายแร่อื่นๆเจือปนรวมอยู่ด้วยในอัตราส่วนเล็กน้อย ซึ่งแหล่งหินอ่อนบางแห่งของโลกอาจมีแมกมาที่เย็นแล้วผสมอยู่ในเนื้อหินอ่อนด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้รัศมีภูเขาไฟที่กำลังปะทุตามกระบวนการทางธรณีวิทยา

Material Identity : ลักษณะของหินอ่อน

- โทนสี 

หินอ่อนโดยทั่วไปมีหลายสี เช่น สีขาว ,เทา ,น้ำตาล ,ชมพู ,เขียวผสมขาว ,สีชมพูเจือขาว ,สีขาวขุ่นมีเส้นสีเทาเจือเล็กๆ ,สีเขียวเข้ม ฯลฯ 

- ลวดลาย 

ของลวดลายนั้น มีลักษณะเป็นลายเส้น หรือ มีผลึกผสม ในอัตราส่วนมากน้อยไม่เท่ากัน  ซึ่งหินอ่อนบางแผ่นอาจมีแค่โทนสีอย่างเดียวโดยไม่มีลวดลายเลยก็ได้

- เนื้อหิน 

ความหนาแน่นของเนื้อหินอ่อนมีค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีรูพรุนอยู่บ้างตามลักษณะทางธรรมชาติ มีคุณลักษณะที่ไม่ดูดซับน้ำ ไม่เก็บความร้อน แต่ชอบดูดซับความเย็น

- ลวดลายหินอ่อนในประเทศไทยที่นิยมใช้กัน 

ได้แก่ ดำไทย ,เขางอบ ,ชมพูพรานกระต่าย ,ทราเวอร์ทีน ,แดงปราจีน ,ตาหวาน ,ขาวสระบุรี ,ชมพูทับกวาง

ลวดลายหินอ่อนนำเข้าที่นิยมใช้กัน 

ได้แก่ ขาวคาราร่า เขียวอิตาลี ครีมมาเฟิล โกลเด้นดราก้อน เอ็มเพอราโด้

Benefit : ข้อดี

- เป็นวัสดุที่ให้ความเงางาม หรูหรา ด้วยลวดลายที่เป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

- มีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน (ไม่ผุ ไม่บวม ไม่กรอบ ไม่ขึ้นสนิม เหมือนวัสดุอื่นๆ ถ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมหินอ่อนจะเป็นวัสดุที่สามารถมีอายุการใช้งานได้นับ 100 ปี ดังที่เรามักจะเห็นการนำหินอ่อนไปตกแต่งปราสาท หรือพราะราชวัง ถึงตัวอาคารจะมีอายุนับร้อยปี แต่วัสดุอย่างหินอ่อนก็ยังคงทนทานไม่บุบสลาย)

- ติดตั้ง และทำความสะอาดได้ง่าย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่ทนต่อกรด ถ้าโดนน้ำส้มสายชูก็จะเกิดรอยด่าง ถ้าเป็นหินอ่อนสีขาวจะด่างเป็นสีเหลือง 

- หินอ่อนบางชนิดไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้ตกแต่งอาคารที่อยู่ชายทะเล เพราะไอเค็มของน้ำทะเลจะกัดกร่อนผิวหน้าของหินอ่อน (ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากๆกับหินอ่อนราคาถูก เพราะคุณภาพที่ถูกตามไปด้วย จึงไม่สามารถป้องกันไอเค็มทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

- ความร้อนของแสงแดดสามารถทำให้สีของหินอ่อนซีดจางได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปตกแต่งในพื้นที่โดนแสงจัด (ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้หินอ่อนสีขาวเพราะถึงแม้สีจะซีดจางลงบ้างแต่ก็เห็นไม่ชัดเจนนัก)

- ไม่ค่อยทนต่อรอยขีดข่วน

Application : การนำไปใช้งาน

- ใช้กรุผนัง หรือ ปูพื้นอาคาร (ไม่ค่อยนิยมใช้ปูพื้น)

- ใช้ทำ Top โต๊ะ

- ใช้ปูขั้นบันได

- ใช้ทำรูปสลักแบบต่างๆ

อลูมิเนียม คอมโพสิต (Aluminum Composite)​ คืออะไร

อลูมิเนียม คอมโพสิต (Aluminum Composite) หรือ แคลดดิ้ง (Cladding) จัดอยู่ในกลุ่มโครงสร้างผนังเบาจึงถูกนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย​ เป็นวัสดุประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยการนำคุณสมบัติของวัสดุต่างชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้วัสดุชนิดใหม่ที่มีคุณภาพสูงมีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแกร่ง และทนรับกับทุกสภาวะอากาศที่มีความเป็นกรดด่างหรือความชื่นที่แตกต่างกัน สามารถใช้งานได้ดีทั้งภายนอก และภายในอาคาร โดยมีขีดความสามารถในการเนรมิตรรูปทรงได้อย่างหลากหลาย นับเป็นวัสดุตกแต่งเปลือกอาคารยุคใหม่ที่จะช่วยตอบโจทย์ และเพิ่มความยืดหยุ่นในด้านการออกแบบที่มากขึ้น

Material Type : ประเภทงานสีอลูมิเนียม คอมโพสิต

สามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภท ดังนี้

1. PE Coating

สีเคลือบพีอี (โพลีเอสเตอร์) สีโพลีเมอร์คุณภาพสูง สามารถทนทานต่อรังสียูวี ผิวเคลือบมีสีสันสดใส เรียบเนียน ผลิตได้ทั้งสีด้านและสีเงา สีเคลือบโพลีเอสเตอร์ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการตกแต่งภายในและงานป้ายโฆษณา

2. PVDF Coating

มี 2 แบบคือ

- พีวีดีเอฟ มาตรฐาน (Traditional PVDF) มีคุณสมบัติเด่นในด้านการต้านทานกรด-ด่าง สภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ จึงเหมาะกับการใช้งานภายนอก

- นาโน พีวีดีเอฟ (Nanometer PVDF) ด้วยผิวเคลือบนาโน ทำให้สามารถปกป้องผิวเคลือบจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ และยังสามารถทำความสะอาดตนเองได้ด้วยการชะล้างของฝน

3. Spectra Color Coating

การเคลือบสีพีวีดีเอฟมาตรฐานร่วมกับผงมุก ด้วยสัดส่วนสีเคลือบพีวีดีเอฟที่มากกว่า 70% โดยให้คุณลักษณะการมองเห็นตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป จากการสะท้อนแสง ด้วยมุมที่ต่างกันไป ทำให้สีมีความเจิดจรัสและสวยงามในตัวของมันเอง นิยมนำไปใช้ในการตกแต่งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และโรงแรม

4. FEVE Coating

สีเคลือบเอฟอีวีอี การเคลือบ - อบด้วยสีประเภท โพลียูรีเทน มากกว่า 1 ครั้งขึ้นไป มีคุณสมบัติเด่นกว่าสีประเภทอื่นคือ ให้สีสด-จัดจ้าน และให้ความเงางามสูง สามารถทนทานต่อสภาพอากาศได้ถึง 10 ปี

5. Special Color Coating

มี 4 แบบดังนี้

- ลายขนแมว (Brushed Panels) เกิดขึ้นจากผิวอลูมินั่มผ่านกระบวนวิธีการผลิตเฉพาะ ก่อให้เกิดลวดลายเฉพาะสวยงามแปลกตา

- ลายหินแกรนิต (Granite Panels) คือ การเคลือบผิวอลูมินั่มด้วยฟิล์มที่มีลวดลายเลียนแบบหิน

- ลายกระจก (Mirror Finished Panels) เมื่อผ่านการขัดเงา และกระบวนการอะโนไดฟ์ ออกซิเดชั่น ได้เป็นแผ่นคอมโพสิทที่ให้ความเงาคล้ายกระจกเงา มีความปลอดภัย ใช้งานตกแต่งทั่วไป

- แสดง 2 สีบนแผ่นเดียว (Two Colors in One Sheet) ระบบการเคลือบสีแบบใหม่ที่สามารถสร้างสีที่แตกต่างกัน 2 สีให้มาอยู่ในแผ่นเดียวกัน เพื่อเป็นการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ & จินตนาการ ให้กับงานออกแบบ

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

อลูมิเนียม คอมโพสิต มีลักษณะโครงสร้างแบบแซนวิช ซึ่งประกอบด้วยแผ่นประกบด้านบน และด้านล่าง ซึ่งมีความบางแต่มีความแข็งแรงสูง ส่วนแกนกลางเป็นวัสดุอ่อน สำหรับแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิทนั้นโดยทั่วไปจะใช้แผ่นประกบเป็นแผ่นอลูมิเนียมบางประมาณ 0.15 - 0.50 มม. และแกนกลางเป็นโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ ด้วยคุณสมบัติที่ทนการกัดกร่อนได้ดี, ไม่เกิดสนิม และน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับเหล็ก

Benefit : ข้อดี

- น้ำหนักเบาเพียง 3.5 – 5 กก/ตร.ม. จึงทำให้ไม่เปลืองโครงสร้าง 

- ตัววัสดุ และสีเคลือบ มีความคงทน แข็งแรง มีอายุการใช้งานยาวนานนับสิบปี

- มีเฉดสีให้เลือกมากมาย ทั้งโทนสีแบบปกติ และ สีลายวัสดุธรรมชาติ

- ประกอบ และติดตั้งได้ง่าย ช่วยให้ประหยัดเงิน และเวลามากขึ้น

- มีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดโค้งขึ้นรูปได้ง่าย โดยแปรรูปให้เป็นรูปทรงต่างๆได้อย่างหลากหลาย 

- สามารถกันความร้อนและเสียงได้ และทนแรงกระแทกได้ดี

- ปลอดภัยจากสารพิษ และมีคุณสมบัติไม่ติดไฟ

- มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย 

Disadvantage : ข้อเสีย

- อลูมิเนียมเป็นวัสดุที่เปราะ ทำให้ไม่สามารถต้านทานแรงดัดเนื่องจากการดัดโค้งในรัศมีแคบๆได้

- เมื่อใช้งานไปนานๆจะทำให้เกิดคราบน้ำ จึงต้องหมั่นดูแลทำความสะอาด

- ถ้าหากเลือกใช้เกรดไม่ดี เมื่อใช้งานไปนานๆสีจะเริ่มซีดจางในบางจุด

Application : การนำไปใช้งาน

- ใช้หุ้มปิดผิวทั้งอาคารสูง โดยสามารถติดสลับกับกระจกได้ดี 

- ทำเป็นฉาก, กำแพง, ผนัง ทั้งภายนอก และภายในได้

- สามารถหุ้มได้ทั้งเสากลม และเสาเหลี่ยม รวมถึงใช้ปิดผิวในงานฝ้าเพดาน และ Facade อาคารได้ 

- สามารถใช้ในงานโฆษณา, งานโชว์สินค้าต่าง ๆได้

กระจกพิมพ์ลายดิจิทัล (Digital Printing Glass) คืออะไร

กระจกพิมพ์ลายหมึกเซรามิค  ใช้เทคโนโลยีอิงค์เจ็ทที่สามารถพิมพ์ลวดลายอะไรก็ได้ลงบนกระจกโดยตรง ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ดิจิตอลขนาดใหญ่สำหรับกระจก พิมพ์ลวดลายลงบนแผ่นกระจกด้วยหมึกเซรามิก จากนั้นนำกระจกไปผ่านกระบวนการอบเทมเปอร์ที่อุณหภูมิประมาณ 650-700 องศาเซลเซียส เพื่อให้หมึกฝังลงในเนื้อกระจกอย่างคงทนถาวร โดยให้คุณสมบัติในด้านความปลอดภัยพร้อมๆ กับความทนทานต่อการขีดข่วนอย่างดีเยี่ยม สามารถใช้งานได้ทั้งแบบแผ่นเดียว หรือ แบบลามิเนท 

จึงทำให้นักออกแบบ หรือ สถาปนิกสามารถเลือกโทนสี และลวดลายได้ตามที่ต้องการ โดยให้อิสระในการออกแบบอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งสามารถนำกระจกพิมพ์ลายไปใช้ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมได้หลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ และสามารถสร้างอัตลักษณ์เด่นให้กับงานสถาปัตยกรรมได้อย่างแปลกใหม่มีเสน่ห์

 

Material Type : ประเภทกระจกพิมพ์ลายหมึกเซรามิค

สามารถพิมพ์ลงบนกระจกได้ 2 แบบ ดังนี้

- แบบกระจกแผ่นเดียว (เนื้อกระจกเทมเปอร์)

- แบบกระจกลามิเนต (เนื้อกระจกเทมเปอร์)

โดยสามารถพิมพ์ได้ครบทุกเฉดสีรวมถึงสีพิเศษ เช่น ขาว สีซาติน (ฝ้า) และชนิดหมึกป้องกันการลื่น (Anti-Slip Ink)

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

- กระจกเทมเปอร์

- หมึกพิมพ์เซรามิค

- หมึกพิเศษ เช่น ซาติน หรือ หมึกป้องกันการลื่น (Anti-Slip Ink)

Benefit : ข้อดี

- สามารถ Mix&Match โทนสี และลวดลายได้ตามที่ต้องการ

- ให้ความสวยงามแปลกใหม่ เนื้อสีสด ติดแน่นทนนาน

- ทนต่อทุกสถาพอากาศ และทนต่อรอยขูดขีด

- มีความปลอดภัย แข็งแรง เพราะทำมาจากกระจกเทมเปอร์

- ช่วยป้องกันรังสียูวี

Disadvantage : ข้อเสีย

- ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกระจกธรรมดาแบบไม่ได้พิมพ์ลาย

- ในกรณีที่พิมพ์ลายเป็น Pattern ต่อเนื่องกันหลายๆแผ่น เมื่อแผ่นใดแผ่นหนึ่งเสียหาย ถ้าหากไฟล์ภาพต้นฉบับที่จะพิมพ์ลายไม่อยู่แล้ว หรือ หายไปเพราะเวลาล่วงเลยมานานหลายปี จะเป็นการยุ่งยากที่จะต้องทำไฟล์ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกับต้นฉบับ 

Application : การนำไปใช้งาน

มักนิยมใช้ตกแต่ง และปิดผิวผนัง ทั้งภายนอก และภายในอาคาร โดยเฉพาะการนำไปใช้ตกแต่งในอาคารสาธารณะ หรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะ โชว์รูม ,โรงแรม ,รีสอร์ท ,ร้านค้า ,ห้างสรรพสินค้า ,อาคารสำนักงาน ,คอนโดมิเนียม ฯลฯ

แผ่นลามิเนตปิดผิว ​HPL​ (High-Pressured Laminated Sheet) คืออะไร

แผ่นลามิเนตปิดผิว ​HPL  หรือ แผ่นลามิเนตอัดแรงดันสูง (High-Pressured Laminated Sheet) ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ที่ให้ความรู้สึก และผิวสัมผัสใกล้เคียงกับไม้จริง ถ้ามองเผินๆ โดยไม่ทันสังเกตอาจจะแยกไม่ออกเลยก็ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตด้วยวัสดุสังเคราะห์ในยุคปัจจุบันทำให้สามารถเลียนแบบวัสดุธรรมชาติได้เหมือนมากๆ นอกจากลามิเนตลายไม้แล้วยังมี ลายหิน ,ลายโลหะ ,ลายผ้า และลายอื่นๆ อีกมากมายที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ตกแต่งปิดผิว 

Texture Type : ประเภทลวดลายพื้นผิว ของแผ่นลามิเนต ​HPL

ลวดลายพื้นผิวที่นิยมใช้กันมากในยุคปัจจุบัน

- พื้นผิวลายไม้

- พื้นผิวลายโลหะ 

- พื้นผิวลายปูนเปลือย

- พื้นผิวลายผ้า

- พื้นผิวสีเรียบแบบปกติ

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

การผลิตแผ่นลามิเนตอัดแรงดันสูง (High-Pressured Laminated Sheet) ทั่วไปจะใช้องค์ประกอบ 3 ชั้นมาอัดรวมกันเป็นแผ่น ประกอบด้วย

- ชั้นแรกเรียกว่า Core อยู่ล่างสุด ทำจากกระดาษคราฟท์ผสมเรซิน ชั้นนี้ทำหน้าที่ให้ความหนาและความแข็งแรง

- ชั้นที่สองเรียกว่า Decorative Paper ชั้นนี้จะเป็นกระดาษบางๆ พิมพ์เป็นลวดลายสวยงาม เช่นลายไม้ ลายผ้า เป็นต้น

- ชั้นบนสุดเรียกว่า Overlay ชั้นนี้คือผิวเคลือบนั่นเอง เป็นสารประกอบของเรซิน ทำให้ผิวของแผ่นลามิเนตมีความคงทนต่อน้ำและรอยขูดขีด อีกทั้งบางรุ่นยังมี texture สวยงามและสมจริง

โดยทั่วไปแล้วแผ่นลามิเนตที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดจะมีความหนาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6 -1.0 มิลลิเมตร

Benefit : ข้อดี

- พื้นผิวมีความทนทานต่อความชื้น และรอยขูดขีด

- ทำความสะอาดง่าย จะสังเกตได้ว่าโต๊ะในร้านอาหารมักนิยมใช้ลามิเนตในส่วนท๊อป

- มีลวดลายพื้นผิวให้เลือกอย่างหลากหลาย

- เทคโนโลยีการผลิตในยุคปัจจุบันสามารถทำลวดลายพื้นผิวเลียนแบบวัสดุจริงประเภทต่างๆได้เหมือนมากๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ ,หิน ,ปูน ,ลายผ้า หรือ โลหะชนิดต่างๆ

- ลวดลาย และสีมีความสม่ำเสมอคงที่ เพราะผลิตโดยการพิมพ์ลายบนกระดาษ 

Disadvantage : ข้อเสีย

- การติดตั้งแผ่นลามิเนตมักจะมีรอยต่อของแผ่นให้เห็นตรงมุม หรือ ขอบของเฟอร์นิเจอร์ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีเก็บสี แต่ก็มีข้อเสียคือเวลาใช้งานไปนานๆ สีตรงขอบจะกะเทาะออก จนเห็นเป็นรอยชัดเจน

- ไม่สามารถประยุกต์ปรับความเข้มอ่อนของสีได้เหมือนไม้จริงที่ทำสีได้เอง

- ไม่สามารถดัดโค้งในมุมรัศมีแคบๆได้

- ถ้าผิววัสดุเสียหายเป็นรอย ไม่สามารถเก็บโป๊ว หรือ ขัดทำสีใหม่ได้ ต้องลอกออก และเปลี่ยนอย่างเดียว

 Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะสำหรับงานออกแบบตกแต่งภายใน อาทิเช่น งานปิดผิวผนัง ,ฝ้า ,เพดาน ,เฟอร์นิเจอร์  ฯลฯ

แผ่นพลาสวูด (Plastwood Sheet​) คืออะไร

แผ่นพลาสวูด คือ แผ่นพีวีซีชนิดแข็ง (Poly Vinyl Chloride หรือ PVC Foam Sheet) ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ทดแทนไม้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้อันมีค่าซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ช่วยรักษาสมดุลย์ของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลก

แผ่นพลาสวูด มีลักษณะเป็นแผ่นพื้นผิวเรียบ ให้ความแข็งแรง ทนทาน และมีน้ำหนักเบา สามารถใช้ทดแทนวัสดุประเภทไม้อัด MDF และไฟเบอร์ซีเมนท์ทั่วไปได้ อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่สามารถใช้กับเครื่องมือช่างได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ไส ,เลื่อย ,ตอกตะปู ,ยิงสกรู หรือ การฉลุ  ที่สามารถฉลุลวดลายต่างๆได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังพ่นด้วยสีประเภทสีอะครีลิค (Acrylic) หรือสีอีพอกซี่ (Epoxy) เพื่มสีสัน และความสวยงามได้อีกด้วย โดยมีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ กว้าง1.2 เมตร ยาว 2.4 เมตร มีความหนาตั้งแต่ 1 มม. ไปจนถึง 25 มม. (ความหนาที่เป็นที่นิยม คือ 4,6,10,15,20,25 มม.)

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

พลาสวูดผลิตมาจากวัตถุดิบประเภทพีวีซีชนิดแข็ง (Poly Vinyl Chloride หรือ PVC Foam Sheet) ซึ่งเป็นเทอร์โมพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติคงทน กันความร้อนได้สูง มีความยืดหยุ่น และง่ายต่อการขึ้นรูป โดยนำผงพีวีซีมาผสมกับสารปรุงแต่ง รวมถึงสารป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเลต (UV) แล้วขึ้นรูปด้วยวิธีการรีด (Extrusion) ออกมาเป็นแผ่นพลาสวูด ซึ่งแยกออกเป็น 2 ขบวนการ คือ Celuka และ Free Foam 

Material Type : ประเภทของแผ่นพลาสวูด

สามารถแบ่งประเภทตามความแข็งของวัสดุได้ 3 ประเภทดังนี้

1. Deca Foam ความหนาไม่เกิน10 มิลลิเมตร ผิวหน้าจะมีความอ่อนตัวไม่แข็งมาก ตัวแผ่นค่อนข้างอ่อน เหมาะกับการติดตั้งใช้งานโดยที่ไม่มีอะไรมากระแทรก เช่น ป้ายติดผนังภายในอาคาร

2. Ex Foam แผ่นชนิดนี้จะมีความแข็งมากกว่า Deca Foam สามารถนำมาฉลุ ให้เป็นลวดลายต่างๆตามความต้องการได้

3. Celuka Foam แผ่นประเภทนี้ มีความแข็งแรงมากกว่าสองประเภทแรกที่ได้กล่าวถึง โดยสามาถทำเป็นพื้น หรือ ผนังแทนวัสดุประเภทไม้ หรือ ไม้อัดได้สบาย เพราะสามารถรับแรงกระแทรก และน้ำหนักได้ดี

Benefit : ข้อดี

- ทนต่อความชื้น ทนน้ำ หรือพื้นที่เปียกชื้นได้ดี 

- ทนปลวก มอด และแมลงต่างๆ ไม่สามารถทำลายได้

- ไม่บิดงอ ,บวม หรือ พองตัวเมื่อสัมผัสน้ำ และไม่หดตัวเหมือนไม้ทั่วไป

- พื้นผิวเรียบสม่ำเสมอ มีน้ำหนักเบา และมีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถดัดโค้งได้ดี

- ไม่ลามไฟ ไม่เป็นเชื้อไฟ

- สามารถพิมพ์สีหรือพ่นสีลงบนแผ่นพลาสวูดได้ โดยใช้สีประเภทอะครีลิกหรือสีประเภทอีพอกซี่

- เป็นฉนวนกันความร้อน และเสียง

- ไม่มีส่วนผสมของใยหิน จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน

- มีความคงทนต่อสารเคมีทั้ง กรดแก่ และเบสแก่

- สามารถใช้กับเครื่องมือช่างได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นงาน ดัดขึ้นรูป งานเจาะ งานไส งานตัด

-ช่วยลดอุณหภูมิเนื่องจากทนความร้อนได้ดี มีค่าการนำความร้อนที่ต่ำ ช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้ห้องเย็นสบาย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ถ้าหากรับน้ำหนักมากเกินขีดจำกัด ตัวแผ่นจะเกิดการเสียรูปไปเลย

- ถ้าหากรับแรงกระแทกมากๆจากวัตถุแหลมคม จะทำให้เกิดร่องรอยชัดเจน

- มีโอกาสที่จะยุบตัว ถ้าใช้รับน้ำหนักมากเกินขีดจำกัด หรือ ใช้งานแบบผิดประเภท 

Application : การนำไปใช้งาน

สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุตกแต่งปิดผิว ได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร (นิยมใช้ภายในมากกว่าภายนอก) เช่น ไม้ฝา, ผนังกั้นห้อง, ผนังฉลุตกแต่ง ,ฝ้าเพดาน, ประตูพีวีซี, เชิงชาย, บัวเชิงผนัง, บัวพื้น, คิ้ว , เฟอร์นิเจอร์ ,ชุดห้องครัว, ห้องซาวน่า, ห้อง Lab, ป้ายโฆษณา และอื่นๆ 

หินสังเคราะห์ (Solid Surface​) คืออะไร

หินสังเคราะห์ หรือที่เรามักจะเรียกว่า “หินเทียม” เป็นหินที่ผลิตออกมาเพื่อทดแทนการใช้หินธรรมชาติ มีข้อดีมากกว่าหินธรรมชาติ ทั้งความแข็งแรง ผิวหน้าที่ทนกว่า และสีสันที่ไม่ผิดเพี้ยนในแต่ละแผ่น โดยหินเทียมที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นหินเทียมอะคริลิก 100%  ,หินเทียมอะคริลิกผสมโพลีเอสเตอร์ และหินเทียมโปร่งแสง โดยมีขนาดความหนาที่หลากหลายตั้งแต่ 6 - 25 มิลลิเมตร

Material Type : ประเภทของหินสังเคราะห์

ประเภทของหินเทียมที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆดังนี้

- หินสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นจากอะคริลิก 100%  เรียกว่า Solid Surface 

- หินสังเคราะห์เกรดผสม อะคริลิกผสมโพลีเอสเตอร์

- หินโปร่งแสงเทียม

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

หินสังเคราะห์ส่วนใหญ่ ผลิตมาจากวัตถุดิบจำพวกอะคริลิก ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่สามารถคืนรูปได้ โดยมีคุณสมบัติเด่นคือ มีความเหนียว ,ทนทานต่อแรงกระแทก ,เนื้อวัสดุมีความใส และแวววาว ,สามารถเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันจนรอยต่อเล็กมากแทบไม่เห็นรอยต่อ ,ดัดโค้งขึ้นรูปได้ ,ทนกรด ด่าง และ สารเคมีได้ดี ในกระบวนการผลิตจะนำเนื้ออะคริลิก มาผสมสารเติมแต่ง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเสริมคุณสมบัติเดิมของวัสดุตั้งต้นให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เช่น สารยับยั้งเชื้อรา หรือ สารต้านทานรังสียูวี

นอกจากนี้หินสังเคราะห์บางประเภทจะลดปริมาณเนื้ออะคริลิกลง โดยผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์แบบไม่อิ่มตัวเข้าไปแทน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต

Benefit : ข้อดี

- มีความแข็งแรงทนทาน สามารถออกแบบเป็นชิ้นงานต่างๆได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นงานตัดตรง หรือ ว่าตัดโค้ง

- ตัววัสดุไม่มีรูพรุน รอยต่อแนบสนิท จึงทำให้แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆไม่สามารถเจริญเติบโตได้  จัดเป็นวัสดุที่ถูกสุขอนามัย จึงนิยมในการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และการแพทย์

- ทนความร้อน ,ความชื้น และสามารถป้องกันรังสียูวีได้

- ให้ความสวยงาม โทนสี และลวดลายมีความสม่ำเสมอทั่วทั้งแผ่น จึงไม่มีปัญหาในการคัดลาย และโทนสี เหมือนกับหินธรรมชาติ

- สามารถติดตั้งได้ง่าย และรวดเร็ว

- สามารถทนต่อกรด ด่าง และทนต่อสารเคมีได้มากกว่า 130 ชนิด

- มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ

- หินเทียมโปร่งแสง แสงสามารถลอดผ่านได้ ทั้งแสงจากธรรมชาติ หรือ แสงไฟจาก Lighting Design จึงให้มิติที่สวยงามแปลกตา และช่วยสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับงานตกแต่ง

Disadvantage : ข้อเสีย

- ราคาแพงกว่าหินธรรมชาติปกติ

- หินสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์ จะไม่สามารถดัดโค้งได้

- หินสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีถ้าหากใช้ไปนานๆ

- หินเทียมโปร่งแสง ในขั้นตอนการติดตั้งโครงไม้ หรือ โครงเหล็ก ที่ไม่มีความปราณีตจะทำให้เห็นเงาของโครงที่ไม่เรียบร้อยได้ชัดเจน ในการติดตั้งโครงอาจใช้แผ่นอคริลิกใสทดแทนได้

Application : การนำไปใช้งาน

สามารถใช้ตกแต่งได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร (ส่วนมากแล้วจะนิยมใช้ตกแต่งภายในมากกว่า) โดยเฉพาะการนำไปตกแต่งปิดผิวผนัง ,เสา รวมไปถึงการนำไปทำเฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อิน ฯลฯ

ไม้คอร์ก (Cork Wood) คืออะไร

วัสดุไม้คอร์กทำมาจากต้นโอ๊ค 2 สายพันธุ์ได้แก่ คอร์กโอ๊ก กับไลฟ์โอ๊ก โดยมีคุณสมบัติที่เบา ยืดหยุ่น และไม่ดูดซึม ในยุคปัจจุบันได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตไม้คอร์กจากเดิมที่ต้องเข้าป่าเพื่อแสวงหาต้นโอ๊ก หรือนำเข้ามาจากที่อื่น โดยเปลี่ยนมาทำฟาร์มต้นโอ๊กเพื่อทำไม้คอร์กโดยเฉพาะ ซึ่งช่วยลดการทำลายป่าไม้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากไม้คอร์กล้วนทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้คอร์กในการผลิตพรมน้ำมัน  กระเบื้องไม้คอร์กสำหรับปูพื้น-ผนัง และวัสดุที่เป็นฉนวนในงานสถาปัตยกรรม รวมถึงการพัฒนาคุณสมบัติที่มีความปลอดภัย และสามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

Material Type : ประเภทของไม้คอร์ก

สามารถแบ่งตามรูปแบบการใช้งานได้ 3 ประเภทหลักๆดังนี้

- ประเภทปิดผิวผนัง และเพดาน

- ประเภทสำหรับปูพื้น

- ประเภทสำหรับปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

ไม้คอร์กทำมาจาก​เปลือก​ไม้​ชั้น​นอก​ของ​ต้น​โอ๊ก โดยชั้นเนื้อไม้ที่ลอกออกมาจะประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการบีบอัด แต่ในขณะเดียวกันก็แข็งแรง ของเหลว และก๊าซจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ นอกไปจากนี้ยังสามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิและความดันได้ดี กันความชื้นและเสียงได้ และยังทนไฟอีกด้วย

Benefit : ข้อดี

- ทำให้ห้องเงียบ เพราะมีการดูดซับเสียงที่ดีกว่าวัสดุพื้นประเภทอื่นๆ 

- ช่วยลดแรงกระแทก เนื่องจากพื้นที่มีความนุ่มนวล และยืดหยุ่นสูง ทำให้ลดแรงกระแทกในการเดิน นั่งนอน โดยเฉพาะลดการเกิดอันตรายต่อเด็ก และผู้สูงวัย

- สามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิ และความดันได้ดี จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายไม่เย็นจนเกินไป เพราะเนื่องจากพื้นไม้คอร์กจะรักษาอุณหภูมิภายในตัววัสดุให้มีความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา มือเท้าที่สัมผัสไม่เย็นจนเกินไป ทำให้เกิดสภาวะสบายในการอยู่อาศัย

- มีความทนทาน ของเหลว และก๊าซจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ 

- จัดเป็นวัสดุธรรมชาติ 100% และเป็น ECO Material ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการตัดไม้จริงจากป่าธรรมชาติ

- ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน และรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ตลอดเวลา

- ไม้คอร์กบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันน้ำ และคราบสกปรกได้ จึงสามารถนำไปใช้กับห้องน้ำได้

- สามารถรีไซเคิลนำกลับไปใช้ใหม่ได้

- ชั้นเนื้อไม้ประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการบีบอัด

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ในกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทั้งแผง

- การป้องกันความชื้นมีข้อจำกัด

- ราคาค่อนข้างสูง การดูแล ระมัดระวังจะมากกว่าพื้นทั่วไป

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ตกแต่งปิดผิวภายในอาคาร เช่น ปิดผิวผนัง และเพดาน ,ปูพื้น รวมถึงการนำไปใช้ปิดผิวเฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อิน

ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Wood Fiber Cement Board​)​ คืออะไร

ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือ ไม้เทียม คือ วัสดุทดแทนไม้จริง ที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,ผงไม้ และนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน เช่น ไม้ฝา ,ไม้พื้น,ไม้ระแนง,ไม้เอนกประสงค์,ไม้บัว เป็นต้น

Material Type : ประเภทของไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์

สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามรูปแบบกระบวนการผลิต และขึ้นรูป ได้ดังนี้

- ประเภทที่มีส่วนผสมของไม้จริงหรือไฟเบอร์

- ประเภทที่ไม่มีส่วนผสมของไม้จริงเลย

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นไม้เทียมที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,เกล็ดไม้,ชิ้นไม้ขนาดเล็ก,ผงไม้,เส้นใยไม้ แล้วนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆตามประเภทการใช้งาน โดยวัสดุผสมข้างต้นที่ได้กล่าวไปจะเรียกว่า “วัสดุประกอบ” (Composite Materials) ซึ่งใช้ผลิตเป็นไม้สังเคราะห์ประเภทต่างๆตามชนิดของ Raw Material ได้ดังนี้

- เส้นใยเซลลูโลสผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เรียกว่า ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fibercement)

- ผงไม้ผสมกับพลาสติก เรียกว่า WPC หรือ Wood Plastic Composite

- ชิ้นไม้ขนาดเล็กผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เรียกว่า ไม้อัดซีเมนต์ หรือ แผ่นชิ้นไม้อัดซีเมนต์ความหนาแน่นสูง (Wood Cement Board หรือ Cement Bonded Particle Board)

- ผงไม้และเส้นใยผสมกับกาวสังเคราะห์ เรียกว่า แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (MDF หรือ Medium Density Fiber Board)

Benefit : ข้อดี

- หาง่าย ราคาถูกพบได้ตามร้านค้าวัสดุที่มีตามท้องตลาด

- สามารถทำสี และเลือกสีให้เหมือนไม้จริงได้ บางทีมองไกลๆจนแยกไม่ออกว่าเป็นพื้นไม้เทียม

- สามารถตัดแต่ง เจาะสกรูได้เหมือนไม้จริง

- ปลวก และแมลงไม่กิน

- ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ไม่หด บิด งอ ไม่ผุ เหมือนไม้จริง

Disadvantage : ข้อเสีย

- ต้องทำโครงรับถี่ เพราะเปราะหักง่ายไม่สามารถรับน้ำหนักหรือทำเป็นโครงสร้างได้เพราะไม่มีความ เหนียวเหมือนไม้จริง  แตกหักง่าย ถึงแม้จะแข็งแต่ตัวพื้นไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์จะเปราะ

- หนัก เพราะมีส่วนผสมของปูน และทราย(ซิลิก้า)

- ถึงแม้พื้นไม้สังเคราะห์ไฟ เบอร์ซีเมนต์จะทำสีเลียนแบบได้เหมือนไม้จริง แต่ต้องอาศัยคนฝีมือในการทาสีให้เหมือน ไม่อย่างงั้นงานจะออกมาเละเทะ(สีโปร่งแสงโชว์ลายไม้)

- เหยียบหรือสัมผัสแล้วร้อนเพราะทำจากซีเมนต์

- ทำสีมีโอกาสลอกได้ง่าย  ถ้าเป็นโดนขูดขีดก็จะเป็นรอยที่เห็นเป็นเนื้อปูนสีขาว  ขัดแก้ไขไม่ได้อย่างง่ายดายเหมือนไม้จริง   

Application : การนำไปใช้งาน

ใช้ในงานตกแต่งปิดผิว ได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร ไม่ว่าจะเป็น งานผนัง ,งานทำพื้นไม้เทียม ,ระแนงไม้เทียม ,ไม้มอบ ,ไม้เชิงชาย ,ฝ้า และงานตกแต่งชนิดอื่นๆ

วอลเปเปอร์ (Wallpaper​) คืออะไร

วอลเปเปอร์ จัดเป็นวัสดุตกแต่งปิดผิวผนังภายในอาคาร ที่สามารถติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว เสร็จได้ภายในวันเดียว เมื่อเทียบกับการตกแต่งผนังแบบอื่นๆที่ต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังมีความเหนียวทนทาน ใช้งานได้นานหลายปี และมีราคาที่ไม่แพงมากนัก ด้วยรูปแบบของโทนสี และลวดลายที่มีอย่างมากมายในปัจจุบัน ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความงดงาม และสร้างแรงบันดาลใจ จากการตกแต่งได้ในสไตล์ที่หลากหลายตามความต้องการอย่างไม่จำกัด 

Material Type : ประเภทของวอลเปเปอร์

วอลเปเปอร์ ในปัจจุบันมีอยู่ 9 ประเภท ดังนี้

1. Duplex Wallpaper วอลเปเปอร์ชนิดกระดาษ เป็นวัสดุบุผนังที่ผลิตจากกระดาษพิมพ์ลายอย่างเดียว โดยไม่ได้เคลือบผิวหน้า หรือเพียงเคลือบมันบางๆ ที่ผิวหน้าเท่านั้น

2. Vinyl Wallpaper วอลเปเปอร์ที่ใช้วัสดุบุผนังที่ผลิตจากกระดาษเคลือบผิวหน้า (Surface) ด้วยสารประเภทไวนิลพิมพ์สี และใช้การกดลาย (Emboss) เพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ในบางชนิดมีการทำรีจิสเตอร์ (Register) เพื่อเพิ่มมิติเส้นของลวดลายต่างๆ ให้กับวอลเปเปอร์ โดยมีลักษณะผิวหน้ามันและผิวแบบด้าน 

3. Foam Wallcovering เป็นวัสดุบุผนังชนิดหลังกระดาษ (Paper Back) เคลือบผิวหน้าด้วยสารพีวีซี (PVC) หรือโฟมพิมพ์สีแล้วทำการอบนูนเพื่อให้เป็นลวดลาย  เหมาะสำหรับติดตั้งในที่ ที่ไม่มีฝุ่นมาก เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน หรือ ห้องปรับอากาศ ฯลฯ

4. Textile Wallcovering วัสดุบุผนังชนิดหลังกระดาษ (Paper Black) แล้วใช้เส้นใยธรรมชาติ หรือ ใยสังเคราะห์ เช่น ฝ้าย ไหม โพลีเอสเตอร์ ทอเป็นลวดลายบนกระดาษ

5. Non-Woven Wallpaper เป็นวอลเปเปอร์นวัตกรรมใหม่ที่ผลิตจากเส้นใยเซลลูโลส โดยไม่ต้องใช้เยื่อไม้จากป่าสนในการทำวัตถุดิบ แต่เป็นเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม จึงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดยุโรป อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก

6. Photo Wall วอลเปเปอร์ชนิดภาพวิว คือกระดาษติดผนังที่พิมพ์เอาลวดลายหรือรูปภาพที่ถ่ายจากธรรมชาติหรือภาพเขียน ภาพถ่าย โดยมีลักษณะเป็นภาพเดียวทั้งผนัง เช่น ภาพบรรยากาศเมือง ภาพวิวธรรมชาติ ภาพบุคคล เป็นต้น

7. Fiber Wall  ไฟเบอร์ เป็นวัสดุบุผนังที่แตกต่างจากวอลเปเปอร์ทั่วไปคือ ผลิตจากวัสดุแผ่น ที่เป็นแผ่นยิปซัมรีดบาง แล้วเคลือบผิวหน้าด้วยการใช้เส้นใยไฟเบอร์มาถักเป็นโครงสร้างเส้นใย (NET) แล้วทำการพิมพ์สีลวดลายให้สวยงาม

8. Wood Backing Wallpaper ผิวหน้าเป็นไม้จริง โดยการใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ไม้คอร์ก ไม้ไผ่ มาทำลามิเนตกับกระดาษหนังไก่ ไม่มีการเคลือบผิวหน้าเหมือนประเภทอื่นๆ

9. Fabric Backing Wallpaperใช้วัสดุสิ่งทอเป็นด้านหลังแทนกระดาษ และเคลือบผิวหน้าด้วยสารพีวีซี (PVC)

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

วอลเปเปอร์เป็นวัสดุที่มีส่วนผสมของกระดาษที่ผ่านกรรมวิธี และผสมผสานกับส่วนประกอบชนิดอื่นๆ เช่น ผ้า ยิปซั่ม โฟม กระดาษ ไวนิล พีวีซี จนไปถึงเส้นใยธรรมชาติ จนทำให้มีความเหนียวแน่น โดยมีการออกแบบสี หรือ ลวดลายใส่ลงบนแผ่นวอลเปเปอร์หลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์

Benefit & Disadvantage : ข้อดี - ข้อเสีย แบ่งจำแนกตามแต่ละประเภท

- Duplex Wallpaper 

ข้อดี - หาได้ง่าย ราคาไม่สูงมากนัก

ข้อเสีย - ลวดลายอาจจะดูไม่ค่อยมีมิติ ไม่เหมาะติดในห้องที่มีความชื้นหรือเปียก เพราะมีขีดจำกัดในด้านความทนทาน

- Vinyl Wallpaper

ข้อดี - ไวนิลจัดเป็นประเภทวอลเปเปอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ด้วยน้ำ ดูแลรักษาง่าย ไม่เป็นที่เกาะของฝุ่นละออง เหมาะกับการแต่งผนังห้องทั่วไป

ข้อเสีย - แต่เมื่อเวลาผ่านไป สี และลวดลายอาจจางเร็ว ถ้าหากเจอแสงแดดบ่อยๆ

- Foam Wallcovering

ข้อดี - มีลวดลายที่ลึกเด่นชัด มีความหนานุ่ม และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย สามารถบดบัง ซ่อนเร้นความไม่เรียบร้อยของผนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบากว่าวอลเปเปอร์ประเภทอื่นจึงสามารถติดบนเพนดานได้อีกด้วย

ข้อเสีย - การนำไปติดเพดานนั้นมีข้อควรระวังเป็นพิเศษในเรื่องของความชื้นจากฝ้าเพดานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากหยดน้ำจากความเย็นของช่องแอร์แบบฝังเพดาน หรือ หลังคารั่วแล้วน้ำหยดซึมลงเพดาน เป็นต้น แต่ถ้าหากฝ้าเพดานไม่มีปัญหาที่กล่าวมาก็จะสามารถติดตั้ง และใช้งานได้ยาวนาน

- Textile Wallcovering

ข้อดี - มีลักษณะเด่นคือ จะมีเส้นสายที่ชัดเจน โดดเด่น สร้างความหรูหราให้กับผนังเป็นอย่างดี ส่วนมากวอลเปเปอร์ประเภทนี้จะเป็นแบบหน้ากว้าง

ข้อเสีย - การดูแลรักษาจะต้องระมัดระวังไม่ให้โดนฝุ่น และความชื้นเด็ดขาด เพราะทำมาจากเส้นใยธรรมชาติซึ่งมีความเปราะบางอยู่บ้างพอสมควร

- Non-Woven Wallpaper

ข้อดี - มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายกว่ากระดาษทนทานมากกว่าในด้านความเหนียว ฉีกขาดยากสามารถระบายความชื้นได้ดีกว่ากระดาษ ลอกออกง่ายสำหรับการเปลี่ยนวอลเปเปอร์ (Repealable) ใหม่ และลดปริมาณการทำลายสิ่งแวดล้อม 

ข้อเสีย - อาจมีการลอก-หลุดในบริเวณรอยต่อ หรือ ขอบ ช่างผู้ติดตั้งต้องมีความประณีตในการเก็บรายละเอียด

- Photo Wall

ข้อดี - เรื่องราวของภาพมีความสวยงามต่อเนื่อง 

ข้อเสีย - ต้องมีการเตรียมพื้นที่ และวัดขนาดที่แน่นอน เพราะถ้าหากไม่เตรียมพื้นที่อาจทำให้เมื่อติดตั้งไปแล้ว ภาพจะขาดๆเกินๆไม่สวยงาม

- Fiber Wall 

ข้อดี -  Backing ที่เป็นยิปซัม สามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้ดี อีกทั้งโครงข่าย (NET) ของไฟเบอร์ที่มีความเหนียว ยึดผนังไว้เป็นอย่างดี ช่วยผนังให้ไม่เกิดรอยร้าว และป้องกันรอยแยกได้ในระดับหนึ่ง

ข้อเสีย - อาจเกิดรอยลอก ล่อน ที่สี หรือพื้นผิวผนังเดิมเมื่อทำการลอกออก

- Wood Backing Wallpaper

ข้อดี - ให้ความสวยงาม และผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ 

ข้อเสีย - ต้องระวังเรื่องความชื้น 

- Fabric Backing Wallpaper

ข้อดี - มีความทนทาน ป้องกันการกระแทกได้ดี เหมาะสำหรับพื้นที่ ที่มีการใช้งานมาก

ข้อเสีย - ต้องระวังเรื่องความชื้น 

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะสำหรับการนำไปใช้ตกแต่งปิดผิวผนังภายในอาคารเท่านั้น

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุตกแต่งประเภทใดๆนั้น ควรไตร่ตรองดูอย่างละเอียดในทุกๆมิติ เนื่องจากมีองค์ประกอบในการตัดสินใจที่หลากหลาย นอกจากข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ของวัสดุปิดผิวแต่ละประเภท​ ชุดนี้แล้ว 

สิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด เราควรพิจารณาดูว่าวัสดุประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับสไตล์รสนิยมของคุณหรือไม่ รวมถึงมีความเหมาะสมกับพื้นที่ หรือบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะตกแต่งมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้วมันจะอยู่กับคุณไปอีกนาน และคงไม่มีใครอยากจะแก้ไข หรือ ปรับปรุงบ่อยๆแน่นอน

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ