รถเข็นขายอาหาร – สถาปัตยกรรมติดล้อที่สร้างบรรยากาศ Street Food

ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเริ่มคลายมาตรการ Lockdown จากที่พยายามให้กักตัวอยู่บ้าน ตอนนี้บ้านเมืองกำลังค่อยๆ กลับมาเริ่มมีสีสัน สิ่งหนึ่งที่ผู้คนคิดถึงกันมากๆ ก็คือการได้เที่ยวกินอาหารนอกบ้านสไตล์สตรีทฟู้ด ไม่ว่าจะริมทางแถวไหน เราก็เริ่มจะเห็นบรรยากาศเดิมๆ กลับมาบ้างแล้ว

สิ่งหนึ่งที่สร้างบรรยากาศเดิมๆ ได้แบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกิดจาก ‘รถเข็นขายอาหาร’ ที่ได้เริ่มนำกลับมาเข็นรวมตัวกันที่ปากซอยหรือตามย่านต่างๆ และได้นำเสนอรสชาติความอร่อยนอกบ้านให้กับเราอีกครั้ง

ด้วยความคิดถึงรถเข็นขายอาหารแบบนี้ จึงขอชวนทุกท่านได้คิดถึงเรื่องของรถเข็นไปต่อว่า อะไรคือลักษณะเฉพาะในรูปแบบของงานออกแบบ ที่ทำให้รถเข็นค่อนข้างมีประสิทธิภาพและใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านเรา และกลายเป็นไอคอนหนึ่งของวัฒนธรรมสตรีทฟู้ด

ภาพประกอบจาก Takeaway

รถเข็นถือเป็นงานออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่ต้องตะลุยนอกบ้านตลอดเวลา (ส่วนทางกับความเป็น New Normal ที่ต้องอยู่ในบ้าน) ทำให้เขามีขนาดเบาที่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก บวกด้วยความสามารถในการพับและกางหลัวคา ในเวลาที่เปิดปิดร้าน ทำให้เราเรียกรถเข็นในเชิงเทคนิคได้ว่าเป็น Mobility Foldable Architecture ได้

เมื่อมองลึกลงไปอีกนิดนึง เราก็จะพบกับคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้รถเข็นละคันมีเอกลักษณ์ของตนเอง นั่นก็คือความสามารถในการต่อเติมสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ตัวรถ เช่น การต่อกันสาดที่ยืดมาออกเพิ่มได้อีกระดับ หรือผ้าใบไว้ชักขึ้นลงเพื่อกันแดด มีที่สวมร่มสนาม มีหมุดเหล็กไว้ค้ำพื้นไม่ให้ไหล หรือแผ่นพับเคาน์เตอร์เสริมที่กับแนบกับตัวรถ

อีกทั้งรถเข็นบางคันยังมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับสถานที่จอด เช่น มีแผ่นไม้ปรับระดับพื้นรถให้เท่าฟุตปาธ หรือการติดกันสาดในมุมที่สัมพันธ์กับทิศแดดตรงนั้น กลายเป็นว่าเราอาจจะไม่สามารถเห็นรถเข็นที่มีหน้าตาแบบเดียวกันเป๊ะๆ ได้เลย ทำให้การออกแบบรถเข็นนั้นเป็นเหมือนเสื้อสูทที่สั่งตัดเฉพาะ ที่สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวบนท้องถนน โดยที่ทั้งหมดทั้งมวลมีหัวใจสำคัญคือความคล่องตัวเป็นหลักนั่นเอง

และเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อไปที่ว่า กล่องเหล็กติดล้อที่เคลื่อนที่ไปมาอย่างรถเข็น นั้นนำพารสชาติอาหารและบทสนทนาแก่ผู้คนในเมืองได้อย่างทั่วถึง รถเข็นนั้นมีศักยภาพในการผลักดันเรื่อง Food security หรือความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่กำลังเป็นเทรนด์ในการออกแบบเมืองในช่วงไวรัสระบาดที่การเข้าถึงอาหารเข้าทำได้ยาก

ถึงอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังค่อยๆ ปรับตัวกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ การได้ออกไปแวะชิมร้านข้างทางบ้าง ก็จะถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในทางหนึ่ง ที่นอกจากจะได้นั่งมองบรรยากาศเดิมๆ ให้ชื่นใจ เราอาจจะมองเห็นโอกาสของการออกแบบรถเข็นให้ดียิ่งขึ้น ที่สอดรับกับการพัฒนาเมืองที่ดีในอนาคตก็เป็นได้

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
สถาปนิกและนักเขียน มีคอลัมน์ประจำในนิตยสารออนไลน์ The Cloud ชื่อ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ปัจจุบันกำลังทำสตูดิโอสถาปนิกชื่อว่า Everyday Architect & Design Studio สนใจการออกแบบที่สอดคล้องกับงานเขียนของตัวเองที่เรียกว่า Urban Vernacular Design ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
พื้นที่ความเชื่อของบ้านคนไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ