มาตรฐานอาคารเขียวคืออะไรและมีเกณฑ์การรับรองอย่างไร? Green Building Label & Institute
เทรนด์อาคารเขียว (Green Building) กำลังกลายเป็นแนวโน้มสำคัญในวงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเน้นการออกแบบและการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งเสริมในเรื่องของความยั่งยืน และยกระดับคุรภาพชีวิตผู้คน อะไรคืออาคารเขียว สำคัญอย่างไร แล้วมีมาตรฐานอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าเป็นอาคารประหยัดพลังงาน วันนี้ Wazzadu Encyclopedia จะพาไปรู้จักกันครับ
อาคารเขียวคืออาคารซึ่งออกแบบก่อสร้างหรือมีการใช้งาน ที่สามารถลดผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้ใช้งานอาคาร เข้าใจง่าย ๆ คือช่วยลดโลกร้อนผ่านกระบวนการออกแบบ และช่วยทําให้คนในอาคารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ออกแบบให้ลดการใช้พลังงานในอาคาร, การหมุนเวียนพลังงาน, การจัดการของเสีย, การใช้พลังงานทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง เป็นต้น
โดยการที่จะเป็นอาคารเขียวได้นั้น ต้องเข้าสู้กระบวนการการประเมินอาคารจากองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางการออกแบบและก่อสร้างอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน (Green Building Institutes) ซึ่งจะเข้ามาประเมินและออกใบรับรองให้
ฉลากอาคารเขียว (Green Building Label)
คือใบรับรองหรือมาตรฐานที่แสดงว่าอาคารนั้น ๆ ได้รับการออกแบบ ก่อสร้าง หรือดำเนินงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการประเมินจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยจะประเมินว่าอาคารหนึ่ง ๆ มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานมากน้อยเพียงใด โดยจะมีการประเมินด้านต่าง ๆ เช่น
- การใช้พลังงาน
- ประสิทธิภาพของระบบน้ำ
- การจัดการวัสดุและของเสีย
- คุณภาพอากาศภายในอาคาร
- การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานอาคารเขียวระดับสากล
ตัวอย่างมาตรฐานอาคารเขียวระดับสากล
- LEED - (Leadership in Energy and Environmental Design) ของ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีใช้ในประเทศไทยมากกว่าระบบอื่น ๆ
- DGNB - (Deutsche Gesellschaft für Nachhaltiges Bauen) ประเทศเยอรมัน
- GREEN MARK – ประเทศสิงคโปร์
มาตรฐานอาคารเขียวไทย
TREES (Thailand Rating of Energy and Environmental Sustainability) คือ มาตรฐานอาคารเขียวของไทย พัฒนาโดยสถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI)
วัตถุประสงค์หลักของฉลากเขียว มาจากแนวความคิดและความต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้
- ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรวมภายในประเทศ
- ให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างเดียวกัน
- ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่สะอาด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทั้งนี้เพื่อส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาว
เกณฑ์การประเมินของฉลากอาคารเขียว
แม้แต่ละระบบจะมีเกณฑ์เฉพาะของตัวเอง แต่ก็จะมีหัวข้อหลัก ๆ ที่มักใช้ในการประเมิน ตัวอย่างเช่น
- พลังงาน (Energy Efficiency) การออกแบบที่ลดการใช้พลังงาน เช่น ระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ
- น้ำ (Water Efficiency) ระบบประหยัดน้ำ การใช้ซ้ำ หรือนำน้ำฝนมาใช้
- คุณภาพอากาศภายใน (Indoor Environmental Quality) การระบายอากาศ วัสดุตกแต่งที่ปลอดสารพิษ
- วัสดุและทรัพยากร (Materials & Resources) ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ
- บริบททางกายภาพ (Site & Location) การเลือกที่ตั้งที่เหมาะสม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
- การจัดการของเสีย (Waste Management) การแยกขยะ การจัดการของเสียจากการก่อสร้าง
- นวัตกรรมและการออกแบบ (Innovation) การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือนวัตกรรมสีเขียว
Green Building Institute คืออะไร?
Green Building Institute หมายถึง สถาบันหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอาคารที่ยั่งยืน โดยให้ความรู้ พัฒนาเกณฑ์ประเมิน และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร ตัวอย่างเช่น
- การกำหนดมาตรฐานหรือแนวทางการสร้างอาคารเขียว
- ให้การรับรองอาคารตามมาตรฐาน
- พัฒนาองค์ความรู้ และฝึกอบรมบุคลากรในแวดวงอาคารเขียว
Green Building Institutes ระดับนานาชาติ
- USGBC (U.S. Green Building Council) สหรัฐอเมริกา พัฒนาและบริหาร LEED ซึ่งเป็นหนึ่งในฉลากอาคารเขียวที่ใช้กันมากที่สุดในโลก
- BRE (Building Research Establishment) สหราชอาณาจักร ผู้พัฒนา BREEAM ระบบประเมินอาคารเขียวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
- IWBI (International WELL Building Institute) สหรัฐอเมริกา สร้างมาตรฐาน WELL ที่เน้นเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ในอาคาร
- Green Building Council Australia (GBCA) ออสเตรเลีย พัฒนาระบบ Green Star สำหรับอาคารเขียวในประเทศออสเตรเลีย
- World Green Building Council (WGBC) นานาชาติ เป็นเครือข่ายของสภาอาคารเขียวทั่วโลก เชื่อมโยงองค์กรจากกว่า 70 ประเทศ
Green Building Institute ในประเทศไทย
TGBI (Thai Green Building Institute) สถาบันอาคารเขียวไทย เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนอาคารเขียวในประเทศไทย พัฒนาและรับรองระบบ TREES ให้การสนับสนุนการวิจัย ฝึกอบรม และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบอาคารอย่างยั่งยืน ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เช่น สภาวิศวกร, สมาคมสถาปนิก, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ นอกเหนือจากนั้นยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในไทย เช่น
- สถาบันพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (EEI) – เน้นเรื่องการใช้พลังงานในอาคาร
- กฟผ. / กฟน. / กฟภ. – มีระบบประเมินพลังงานในอาคาร เช่น MEA Energy Awards
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – สนับสนุนแนวนโยบายด้านอาคารยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทำความรู้จักกับอาคารเขียวและองค์กรที่เกี่ยวข้องไปกันแล้ว ทีนี้มาดูกันว่าการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
ข้อดี
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ลดการใช้พลังงาน น้ำ วัสดุ และทรัพยากร
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ลดของเสียจากการก่อสร้าง
ประหยัดต้นทุนระยะยาว
- ค่าพลังงานและค่าน้ำลดลง
- ลดค่าซ่อมบำรุงในระยะยาว
- บางประเทศมี สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือเงินสนับสนุนจากรัฐ
ส่งเสริมสุขภาพผู้อยู่อาศัย
- อากาศสะอาด การระบายอากาศดี
- แสงธรรมชาติเข้าถึง
- วัสดุก่อสร้างปลอดสารพิษ
เพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์
- ผู้เช่าหรือผู้ซื้อ ยอมจ่ายมากขึ้น เพื่อความยั่งยืน
- โครงการมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์
สอดคล้องกับ ESG & CSR
- ตอบโจทย์องค์กรที่มีนโยบายความยั่งยืน
- เสริมความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน
ข้อควรพิจารณา (หรือข้อเสียที่ควรชั่งน้ำหนัก)
ต้นทุนเริ่มต้นสูง
- ค่าที่ปรึกษา / ค่าขึ้นทะเบียน / ค่ารับรอง
- ต้นทุนด้านวัสดุและระบบอาจสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป
ขั้นตอนเอกสารและการประเมินซับซ้อน
- ต้องเตรียมเอกสารเยอะ
- ต้องควบคุมทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน
- ในบางครั้งใช้เวลาในการประเมินนาน
ต้องการการบำรุงรักษาต่อเนื่อง
ระบบบางอย่างเช่น ระบบเก็บน้ำฝน ระบบแสงอัจฉริยะ ฯ ต้องได้รับการดูแลให้ทำงานมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง
ความรู้เฉพาะทาง
ทีมออกแบบ ก่อสร้าง และผู้ใช้อาคารต้องเข้าใจแนวคิด Green Building ไม่เช่นนั้นอาจใช้งานไม่คุ้มค่าที่ลงทุนไป หรือผิดหลักการออกแบบและไม่เข้าเกณฑ์ประเมิน
แล้วการทำอาคารให้เป็นอาคารเขียวคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่? คงต้องมาดูกันที่เป้าหมายครับ ถ้าหากโครงการของคุณมีเป้าหมายระยะยาว เช่น ต้องการลดต้นทุนเรื่องการใช้พลังงานในอาคาร, อยากเพิ่มมูลค่าให้โครงการและองค์กร หรือ ทำงานภายใต้แนวคิด ESG (แนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ) / แนวคิด Net Zero (การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุด และชดเชยส่วนที่เหลือจนผลรวมสุทธิเป็นศูนย์) เป็นต้น การรับรองอาคารเขียวก็ถือว่า "คุ้มค่าในระยะยาว" ครับ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม