รู้จักกับมาตรฐาน ISO 14064 และ ISO 14067 ที่เกี่ยวกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์

เมื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ กลายมาเป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรเพื่อความยั่งยืน การดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ Net Zero หรือ Carbon Neutrality นั้น จำเป็นต้องใช้มาตรฐานที่สามารถวัดผลได้ มีการตรวจสอบและสามารถชี้แจงรายงานได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการคาร์บอนระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาตรฐาน ISO 14064 และ ISO 14067 ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการดังกล่าว

เพราะ ISO สองมาตรฐานนี้เกี่ยวข้องกับ การคำนวณและบริหารจัดการคาร์บอน โดยตรง

- ISO 14064 : เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการวัด / การรายงาน / การลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กร

- ISO 14067 : เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการวัด Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ขององค์กร

ISO ทั้งสองนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีระบบ โปร่งใส และตรวจสอบได้จริง ในโลกที่ความยั่งยืนคือข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน การมีมาตรฐาน ISO ไม่เพียงแต่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต แต่ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกที่ผ่านการตรวจสอบอย่างโปร่งใสมาแล้ว

หากใครยังสงสัยว่าแล้ว ISO เกี่ยวข้องยังไงกับการลดคาร์บอน ถ้าอย่างนั้นขอเริ่มต้นที่การบอกถึงความสำคัญนี้ก่อนครับ

แล้ว ISO คืออะไร?

ISO หรือชื่อเต็มว่า International Organization for Standardization เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดทำมาตรฐานสากลในด้านต่างๆ ครอบคลุมทั้งการจัดการคุณภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม พลังงาน เทคโนโลยี และอื่นๆ อีกมากมาย โดย ISO ทำหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นระบบ เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรหรือประเทศต่างๆ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และตรวจสอบได้

 

ISO ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 มีสมาชิกกว่าร้อยประเทศเข้าร่วมและให้การยอมรับ ที่สำคัญไม่ใช่หน่วยงานจากสังกัดรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ ISO มีจุดมุ่งหมายในการสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ รวมถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ ด้วยครับ

 

ความสำคัญของมาตรฐาน ISO ในการลดคาร์บอนไดออกไซด์

ด้วยความที่มาตรฐาน ISO ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นระบบการบริหารจัดการที่มีความเป็นกลาง เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ISO 14064 และ ISO 14067 จัดอยู่ในกลุ่มของมาตรฐาน ISO ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถวัด ติดตาม และรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions) ได้อย่างแม่นยำ

 

การใช้มาตรฐาน ISO ในการลดคาร์บอน ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมความน่าเชื่อถือขององค์กรเท่านั้น แต่ยังช่วยตอบโจทย์ด้าน ESG (Environmental, Social, Governance), SDGs (Sustainable Development Goals) และการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Report) ที่หลายองค์กรดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยนโยบานด้าน Net Zero

มาตรฐาน ISO 14064 คืออะไร?

ISO 14064 เป็นมาตรฐานที่ใช้สำหรับการวัด การจัดทำบัญชี และการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

 

1. ISO 14064-1 : การรายงานและการตรวจสอบของโปรโตคอลที่เป็นการยอมรับทั่วไป (GHG Inventory) มาตรฐานนี้ระบุข้อกำหนดและแนวทางสำหรับการรายงานและการตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กร

2. ISO 14064-2 : การรายงานและการตรวจสอบของโปรโตคอลสำหรับโครงการที่มีการรายงานโดยระดับโปรเจกต์ (GHG Project) เช่น โปรเจกต์ A ทำเรื่อง Low Carbon City ที่กำลังพัฒนาการลดการใช้พลังงานภายในเมืองและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลงกว่าเดิม เป็นต้น

3. ISO 14064-3 : การตรวจสอบและการรับรองของโปรโตคอลสำหรับรายงานโดยอาศัยการตรวจสอบและการรับรองของบุคคลภายนอก (GHG Verification and Validation) มาตรฐานนี้ระบุข้อกำหนดและแนวทางสำหรับการตรวจสอบและการรับรองของข้อมูลก๊าซเรือนกระจก โดยอาศัยการตรวจสอบและการรับรองจากบุคคลภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่รายงานเป็นเชิงบวกและมีความน่าเชื่อถือ

 

ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของมาตรฐาน ISO 14064-1 คือการจำแนกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตาม Scope 1, Scope 2 และ Scope 3 และหากสรุปสั้นๆ แต่ละ scope จะมีขอบเขตตามนี้

Scope 1 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง จากแหล่งที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุม

Scope 2 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม จากการใช้พลังงานไฟฟ้า, ความร้อนหรือไอน้ำ

Scope 3 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ เช่น จากการขนส่ง, การเดินทางของพนักงาน, การใช้ผลิตภัณฑ์, การกำจัดขยะ ฯลฯ

 

การดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 14064 ช่วยให้องค์กรมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดเป้าหมายลดคาร์บอนอย่างชัดเจน เป็นระบบ และสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานได้ในแต่ละปี

มาตรฐาน ISO 14067 คืออะไร?

ISO 14067 เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ หรือ Carbon Footprint of Product (CFP) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบ, การผลิต, การขนส่ง, การใช้งานไปจนถึงการจัดการของเสียหลังการใช้งาน

 

มาตรฐานนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่าในกระบวนการผลิตสินค้าของตน ส่วนใดมีการปล่อยคาร์บอนสูง และสามารถกำหนดแนวทางเพื่อลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนวัตถุดิบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือการปรับปรุงระบบขนส่ง

นอกจากนี้มาตรฐาน ISO 14067 ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการสื่อสารกับผู้บริโภคในรูปแบบของการแสดงฉลากสิ่งแวดล้อม หรือ Eco-labeling ที่แสดงค่า CFP เพื่อส่งเสริมการตลาดที่ยั่งยืน

 

ประโยชน์ของการใช้ ISO 14064 และ ISO 14067 ในภาคธุรกิจ

ด้วยความคุ้นเคยที่ใครต่อใครเข้าใจว่าการนำมาตรฐาน ISO ไปใช้ในภาคธุรกิจ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัท และช่วยควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในหลายมิติ แต่สำหรับด้านความยั่งยืนแล้ว เรามาดูกันว่า ISO ใช้ทำอะไรได้บ้าง และมีประโยชน์อย่างไร

 

1. ใช้วางระบบบริหารจัดการภายในองค์กร : มาตรฐาน ISO ช่วยให้องค์กรมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่การเก็บข้อมูล, การวิเคราะห์, การควบคุมคุณภาพไปจนถึงการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรระยะยาว

 

2. ตอบโจทย์ในการเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน : ในยุคที่ผู้บริโภค นักลงทุนและคู่ค้าให้ความสำคัญกับ ESG การที่องค์กรมีมาตรฐาน ISO ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14064 และ ISO 14067 จะเป็นการแสดงจุดยืนว่าองค์กรมีความมุ่งมั่นและจริงจังกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและลดสภาวะโลกร้อนให้น้อยลง

 

3. ขยายโอกาสทางการตลาดที่ต่างประเทศ : องค์กรที่ผ่านการรับรอง ISO จะได้รับความไว้วางใจจากคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร, ยานยนต์, แหล่งพลังงาน และรวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จำหน่ายวัสดุตกแต่งต่างๆ

 

4. ลดต้นทุนภาคการผลิต : มาตรฐาน ISO จะสนับสนุนเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดของเสีย และหันมาประหยัดพลังงาน ทำให้องค์กรที่จะได้รับมาตรฐานนี้ต้องมีวิธีการหรือนวัตกรรมการผลิตที่ช่วยลดทรัพยากรและมีการจัดการ waste ที่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ผลต้นทุนภาคการผลิตสินค้าในระยะยาว

 

5. เตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ : หลายประเทศเริ่มออกนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงาน หากองค์กรไหนมีการนำ ISO มาใช้ จะช่วยให้องค์กรสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดได้ง่ายขึ้น หรือมีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฏหมายมากกว่าองค์กรที่ยังไม่ได้วางแผนและลงมือปฏิบัติ

 

ก็หวังว่าบทความในครั้งนี้ จะเป็นการแบ่งปันความรู้ด้าน ISO ที่เกี่ยวกับการลดคาร์บอนที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และหากใครสนใจหาวัสดุก่อสร้างหรือตกแต่งที่แบรนด์ผู้ผลิตกำลังพัฒนาด้านนี้ สามารถมาแวะชมข้อมูลได้ที่ โครงการ Wazzadu Low Carbon Material Library กันนะครับ

แวะชมได้ที่ https://www.wazzadu.com/page/wazzadulowcarbonmateriallibrary

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

https://teachme-biz.com

https://www.apexchemicals.co.th

https://caiengineering.com

https://www.splendidconsult.com

Wazzadu Low Carbon Material Library คือ ห้องสมุดวัสดุคาร์บอนฯ ต่ำ สำหรับงานสถาปัตยกรรม ที่รวบรวมความรู้และสเปควัสดุคาร์บอนฯ ต่ำ ทั้งจากนักวิจัย, สตาร์ทอัพ และผู้ผลิต เพื่อให้สถาปนิกและเจ้าของโครงการสามารถเลือกใช้สเปควัสดุคาร์บอนฯ ต่ำ สำหรับนำไปออกแบบอาคาร หรือ งานสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนได้ ช่วยสร้างความมีส่วนร่วมในการเร่งสถาปัตยกรรมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้น โดยเร็วเพื่อช่วยลดการแก้ปัญหาโลกร้อน

ด้วยการเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฯ ที่แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Low Carbon CFO (Carbon Footprint for Organization) : การประเมิน carbon footprint ขององค์กร
2. Low Carbon CFP (Carbon Footprint of Product) : การประเมิน carbon footprint ของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้พัฒนาวัสดุที่มีความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนจากวัสดุที่จำหน่าย มุ่งสู่เส้นทาง Low Carbon material ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางโครงการมีการแบ่งเฟสที่บอกระดับว่าแต่ละองค์กรอยู่ที่จุดไหนแล้วบ้าง ได้แก่

Phase 1 : Committed เข้าร่วมโครงการ Wazzadu Low Carbon Material Library สู่เส้นทาง Low Carbon
Phase 2 : On-Track ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Phase 3 : Achieved สามารถปล่อยคาร์บอนฯ ต่ำได้แล้วเมื่อเทียบจากครั้งก่อนๆ

หวังว่าห้องสมุดที่รวมวัสดุคาร์บอนฯ ต่ำนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้พบกับวัสดุที่สามารถใช้ออกแบบให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมคาร์บอนต่ำได้จริง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ