หลักการออกแบบในแนวทาง Biophilic Design คืออะไร
ในยุคที่ความเป็นเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตของผู้คนกลับยิ่งห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น วันนี้ Wazzadu Low Carbon Material Library เลยมีหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยากมาแนะนำ นั่นคือ Biophilic Design หรือ “การออกแบบที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่นักออกแบบและสถาปนิกทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงการตกแต่งอาคารด้วยต้นไม้ แต่เป็นแนวทางที่ส่งผลลึกซึ้งต่อสุขภาวะของผู้ใช้งาน และคุณภาพของพื้นที่โดยรวม
Biophilic Design คืออะไร?
Biophilic Design คือ แนวทางการออกแบบที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่านการใช้วัสดุธรรมชาติ การมองเห็นธรรมชาติ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส ไปจนถึงการจำลองรูปแบบและระบบนิเวศของธรรมชาติเข้ามาไว้ในสถาปัตยกรรมและพื้นที่ใช้สอย
แนวคิดนี้มีรากฐานมาจากทฤษฎี Biophilia ของนักชีววิทยา คุณ เอ็ดเวิร์ด โอ วิลสัน (Edward O. Wilson) และถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 ที่กล่าวว่ามนุษย์มีความผูกพันโดยสัญชาตญาณกับธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ จะรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และมีสุขภาพจิตดีขึ้น
Biophilic Design ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นแนวทางการออกแบบที่ตอบสนองทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์แบบ มาดูกันว่าแนวคิดนี้มีหลักการออกแบบเป็นอย่างไร
หลักการออกแบบในแนวทาง Biophilic Design
แม้ Biophilic Design จะมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัส ได้รู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่การจะประยุกต์ใช้ในงานออกแบบอย่างเป็นระบบ ต้องอ้างอิงหลักการที่มีความชัดเจนและสามารถนำไปใช้ได้จริงในสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่ ซึ่งหลักการของ Biophilic Design สามารถจำแนกได้ดังนี้
1. การมองเห็นธรรมชาติ
การจัดวางผังอาคารหรือพื้นที่ภายในให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นต้นไม้ น้ำ ท้องฟ้า หรือธรรมชาติภายนอกได้โดยตรง เป็นสิ่งแรกที่มักนำมาใช้ เพราะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความเครียด และสร้างความรู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น
2. การสัมผัสธรรมชาติ
ไม่ใช่แค่การมองเห็น แต่การสัมผัสผ่านประสาทสัมผัสอื่น เช่น การได้กลิ่นไม้ธรรมชาติ เสียงน้ำไหล หรือผิวสัมผัสของหินและไม้จริง ล้วนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการรับรู้ของมนุษย์
3. ประยุกต์ใช้รูปแบบธรรมชาติในงานออกแบบ
การนำรูปทรง ลวดลาย หรือองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกับรูปแบบในธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ เช่น ลายใบไม้ คลื่นน้ำหรือการจัดวางอย่างออแกนิก จะช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต
4. แสงและเงาในธรรมชาติ
การออกแบบให้แสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ของอาคาร ทั้งแบบแสงตรง แสงสะท้อนและเงา ช่วยกระตุ้นวงจรการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายตามธรรมชาติ และแสงจากดวงอาทิตย์ยังช่วยเพิ่มความสว่างที่ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากการใช้ไฟ
5. สร้างพื้นที่ผ่อนคลาย
การจัดพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และแม้แต้ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว เป็นอีกหนึ่งหลักสำคัญที่ทำให้คนมีเวลาพักผ่อนอยู่กับตัวเอง ช่วยเสริมสุขภาวะที่ดีต่อใจและกาย เช่น พื้นที่นั่งเงียบๆ ริมหน้าต่างหรือมุมอ่านหนังสือในสวน เป็นต้น
ในส่วนของประโยชน์การออกแบบ Biophilic Design ต่ออาคารและผู้อยู่อาศัยนั้น มักเป็นเรื่องของการเสริมสร้างสุขภาพจิตกับสุขภาพกาย จากการออกแบบที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สามารถช่วยลดความเครียดของคนแล้วเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังส่งเสริมสมาธิได้อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะเมื่อคนมีสมาธิมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนรู้จึงเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมที่มีองค์ประกอบของธรรมชาติช่วยให้ผู้คนมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นถึง 15%
นอกจากการออกแบบตามแนวคิดนี้ ที่ช่วยลดพลังงานของอาคารและนำไปสู่การพัฒนาอาคารที่ยั่งยืนในระยะยาว ยกตัวอย่างง่ายๆ จากการใช้แสงธรรมชาติและระบบระบายอากาศธรรมชาติในอาคาร (Natural Ventilation) ก็สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี ทั้งลดการปล่อย Operational Carbon ที่ใช้พลังงานในอาคาร ซึ่งสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูโภคอย่างค่าไฟ ก็ต่างลดลงมาด้วย
และในประเทศไทยเอง ทาง Wazzadu Low Carbon Material Library หวังว่าแนวคิดนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน, โรงแรม, โรงพยาบาลและบ้านพักอาศัย เพื่อหวังว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://risc.in.th
https://www.cptower.com
ขอบคุณรูปประกอบจาก :
https://www.archdaily.com
ผู้เขียนบทความ
ด้วยการเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฯ ที่แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Low Carbon CFO (Carbon Footprint for Organization) : การประเมิน carbon footprint ขององค์กร
2. Low Carbon CFP (Carbon Footprint of Product) : การประเมิน carbon footprint ของผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้พัฒนาวัสดุที่มีความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนจากวัสดุที่จำหน่าย มุ่งสู่เส้นทาง Low Carbon material ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางโครงการมีการแบ่งเฟสที่บอกระดับว่าแต่ละองค์กรอยู่ที่จุดไหนแล้วบ้าง ได้แก่
Phase 1 : Committed เข้าร่วมโครงการ Wazzadu Low Carbon Material Library สู่เส้นทาง Low Carbon
Phase 2 : On-Track ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Phase 3 : Achieved สามารถปล่อยคาร์บอนฯ ต่ำได้แล้วเมื่อเทียบจากครั้งก่อนๆ
หวังว่าห้องสมุดที่รวมวัสดุคาร์บอนฯ ต่ำนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้พบกับวัสดุที่สามารถใช้ออกแบบให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมคาร์บอนต่ำได้จริง ... อ่านเพิ่มเติม