"Luzhniki Stadium" สังเวียนนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 กับรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่น่าสนใจ

ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย เริ่มขยับเข้าใกล้นัดชิงชนะเลิศเข้ามาทุกทีแล้ว ซึ่งอีกไม่กี่วันเราก็จะรู้ผลแล้วว่าทีมใดจะได้เข้าชิงชนะเลิศ วันนี้เราจึงขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสนามฟุตบอลที่จะถูกนำมาใช้สำหรับการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งสนามแห่งนี้มีความเป็นมาที่ค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ถ้าพร้อมแล้วตามมาชมกันเลยครับ

สนามกีฬา Luzhniki แต่เดิมแล้วถูกออกแบบ และสร้างขึ้นในปี 1955-1956 ภายใต้การออกแบบของสถาปนิก Aleksandr Vlasov โดยอ้างอิงแนวทางการออกแบบโดยอาศัยหลักการวางผังเมืองเดิมของกรุงมอสโค โดยสนามแห่งนี้มีการเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญหลายๆแห่ง นอกจากนี้สนามแห่งนี้ยังเคยถูกใช้เป็นสนามแข่งกีฬาโอลิมปิกอีกด้วย

ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2018 สนามแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงต่อเติมครั้งใหญ่ สำหรับรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 โดยทีมสถาปนิกที่เข้ามาสานต่อภารกิจนี้คือ SPEECH Architects ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงสนามเป็นไปค่อนข้างยากลำบากด้วยปัจจัยเดิมที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งในเรื่องพื้นที่ใช้สอยเดิมที่ต้องถูกเปลี่ยนการใช้งานให้ถูกต้องตามหลักของสมาพันธ์ฟุตบอล(ฟีฟ่า) โดยแนวคิดในการปรับปรุง และต่อเติมนั้นนักออกแบบมีความต้องการที่จะเก็บรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมภายนอกของสนามเอาไว้ โดยมีการออกแบบกราฟฟิกเป็นภาพนักกีฬาประเภทต่างๆผ่านรูปแบบงานศิลป์เพิ่มเข้าไป ซึ่งภาพกราฟฟิกถูกตกแต่งให้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของอาคารได้อย่างกลมกลืน

เมื่อการปรับปรุงต่อเติมดำเนินใกล้แล้วเสร็จ จะเห็นได้ว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของสนามแห่งนี้ยังคงอยู่โดยไม่ได้ให้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมากนัก เป็นการรักษาไว้ซึ่งกลิ่นอายดั้งเดิมเพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของสนามแห่งนี้ให้กับคนรัสเซียรุ่นหลังได้สัมผัส นี่คือสิ่งมีค่าที่สนามแห่งนี้มอบเอาไว้ให้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายและสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งหลังจากที่ปรับปรุงต่อเติมเสร็จสิ้นทำให้สนามแห่งนี้สามารถรองรับการใช้งานสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศได้อย่างสบายๆ ด้วยความจุกว่า 81,000 ที่นั่ง และยังได้ปรับพื้นที่ใช้สอยภายในจากเดิมที่เป็นโรงแรม และห้องสำหรับนักกีฬา โดยเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการออกกำลังกาย และสนามกีฬาที่ได้รับมาตรฐานหลากหลายประเภทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสนามแห่งนี้

และส่วนพื้นที่ภายในสนามที่ใช้สำหรับแข่งขันนั้น ประกอบไปด้วยอัฒจรรย์หลักความจุ 81,000 ที่นั่ง ที่มีรูปแบบการจัดวางลายเก้าอี้แบบพิกเซล ,ห้องวีไอพี ,ห้องผู้สื่อข่าว ,สกอร์บอร์ดยักษ์ รวมไปถึงระบบไฟ และระบบเสียง  โดยจุดเด่นภายในสนามที่น่าสนใจที่สุด ก็คือส่วนของโครงสร้างหลังคากระจกขนาดมหึมาเนื่องจากเป็น Skylight ขนาดใหญ่ที่ปกคลุมพื้นที่สนามโดยรอบทั้งหมด ซึ่งเป็นรูปแบบหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงานการใช้ไฟฟ้าภายในสนามไปได้ค่อนข้างมาก เพราะสามารถนำแสงธรรมชาติเข้ามาภายในสนามได้ทั่วทั้งสนาม

หากสังเกตุจะเห็นได้ว่ามีการควบคุมแสงสว่าง และเงาที่เกิดจากธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม ในบริเวณที่นั่งสำหรับผู้ชมมีความสว่างน้อยกว่าบริเวณพื้นสนามหญ้า เนื่องจากต้องการเน้นในเรื่องมุมมอง และการนำแสงแดดมาใช้ในการดูสนามหญ้าด้วย โดยวัสดุหลักที่ใช้คือกระจกนิรภัยจำนวนมากที่มีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน และสภาพภูมิอากาศที่มีหิมะ 

Luzhniki Stadium เป็นอีกตัวอย่างของงานปรับปรุง และต่อเติมที่มีความน่าสนใจ โดยมีการเลือกใช้วัสดุที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดในการอนุรักษ์ลักษณะเดิมของอาคาร จึงทำให้อาคารแห่งนี้ยังคงรักษาบรรยากาศ และกลิ่นอายความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างมีเสน่ห์ 

รูปภาพประกอบโดย www.archdaily.com

ไอเดียการออกแบบ และตกแต่งงานสถาปัตยกรรมด้วย "กระจกลามิเนต" ที่น่าสนใจ

TYK
Because "I love glass" ที่กลาสฟอร์ม พวกเรารักและให้ความใส่ใจกับกระจกทุกแผ่น เพราะเรามองกระจกเป็นมากกว่าวัสดุตกแต่งทั่วไป เพราะเราเห็นความสวยงามในการสร้างสรรค์ผลงานกระจก และเพราะเราเห็นรอยยิ้มของลูกค้าที่เกิดจากการใช้สินค้าของเรา ...

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ