Sacict Craft Trend 2020 : Serenergy - True Value (ตระหนักในคุณค่าแท้)

นี่คือผลงานวิจัยเทรนด์ SACICT Craft Trend ประจำปี 2020 ที่จะเป็นทิศทางในการพัฒนาสินค้าหัตถศิลป์ และการออกแบบนับจากปีนี้เป็นต้นไป

ในปี 2020 ที่จะมาถึงนี้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ สร้างความเชื่อ สร้างทรรศนะใหม่ให้กับผู้คน ผู้บริโภคยุคใหม่ถูกกระทบด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหลอมรวมของวัฒนธรรมในโลกที่ไร้พรมแดน ภาวะโลกร้อน การคุกคามของโรคภัย หรือเทคโนโลยีล้ำยุคที่เข้ามากลืนกินสิ่งดั้งเดิม ในยุคแห่งค่านิยมสมัยใหม่

โดยเราสามารถแบ่งประเภทกลุ่มผู้บริโภคต่างๆออกได้ 4 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. Serenergy

2. Utopioneer

3. Anti-boring

4. Precidealist

และในวันนี้เราจะมาพูดถึงผู้บริโภคกลุ่มแรก ก็คือ Serenergy (ซี-รีน-เนอร์-จี้) ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ

ผู้บริโภคกลุ่มที่ 1 Serenergy (ซี-รีน-เนอร์-จี้)

คือ กลุ่มคนที่มีความใส่ใจในสุขภาพและความสมดุลของชีวิต โดยปรับตัวเข้าหาธรรมชาติดื่มด่ำและมีความคิดที่ลึกซึ้งไปกับการเข้าถึง เข้าใจจุดกำเนิดเพื่อสร้างความสงบในจิตใจ

และเนื่องจากการเป็นคนที่คิดลึกซึ้ง และต้องการที่เข้าใจจุดกำเนิดและพยายามลดทอนการใช้ที่ไม่จำเป็นลง ในปี 2020 นี้ Craft Trend ที่เหมาะกับพวกเขาคือ True Value หรือตระหนักในคุณค่าแท้

True Value คือแนวโน้มการออกแบบที่กล่าวถึงการตระหนักใน “คุณค่าแท้ของชีวิต” เนื่องจากกลุ่มคน Serenergy นั้นให้ความสนใจในเรื่องของจิตใจ เข้าถึงจิตวิญญาณเพื่อคืนสมดุลให้กับชีวิต และใช้ชีวิตอย่างมีความพอดี

True Value จึงเป็นแนวโน้มทางการออกแบบที่กล่าวถึงความเรียบง่ายที่นำไปสู่ความสงบ มีสติ รู้ทันปัจจุบัน (Nowness)  

สนใจในเรื่องราวของจิตสำนึกร่วมสมัย ความยั่งยืน การอยู่อาศัยที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ หรือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

และการให้ความสำคัญกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในจิตใจ (Sanctuary) เพื่อทำให้สงบและสามารถเข้าถึงจิตใจ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของนิยามแห่งสุขภาพดี หรือ Wellness ในโลกยุคต่อไป

สีสันและ Mood and Tone ที่สะท้อนอารมณ์ตระหนักถึงคุณค่าแท้จะเป็นกลุ่มสี Earth Tone และสีพาสเทลในโทนที่ล้อไปกับธรรมชาติ การออกแบบมุ่งเน้นวัสดุที่ให้ความรู้สึกดิบหยาบที่แสดงถึงความเป็นเนื้อแท้

ภายใต้ทิศทางการออกแบบ True Value นั้น สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ใน 3 แนวทาง แนวทางแรกคือ “Mindful Space”

คือการสร้างผลงานหัตถศิลป์ด้วยการมุ่งเน้นให้ผู้ใช้เกิดความสงบจากภายใน โดยใช้เส้นสาย สีสัน และลวดลายที่เรียบง่าย มุ่งเน้นให้สามารถสะท้อนให้เห็นคุณค่าในตัวเอง

ตัวอย่างเช่น

งานต้นแบบผลิตภัณฑ์จากโครงการพัฒนาของ SACICT ได้แก่

- Benjamin Collection

ที่เป็นการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมเรื่องการทำเบญจงค์มาต่อยอด ผ่านงานออกแบบให้มีความเรียบง่ายเป็นระเบียบ การวางลวดลายซ้ำ สะท้อนถึงวิถีชุมชน

- ไทยเบญจรงค์ ออกแบบโดย หัสยา ปรีชารัตน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 เป็นผลงานที่เกิดจากหลักคิดการออกแบบและต่อลายแบบประยุกต์ให้ร่วมสมัย นำความรู้มาต่อยอดและพัฒนาเครื่องเบญจรงค์ให้มีสีสัน รูปแบบและรูปทรงที่แปลกตา ดูร่วมสมัยมากขึ้น
(โครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ 2561)

- Stacks Bench Designed by Another Human

คือ ที่นั่งในรูปแบบที่เกิดจากการกองซ้อนกันเป็นชั้นๆ ของชิ้นที่นั่งหลายชิ้น บุวัสดุกำมะหยี่ที่หรูหราในรูปแบบร่วมสมัย สามารถแยกส่วนและจัดเรียงประกอบต่อกันได้ การออกแบบตีความจากหินทำสมาธิที่มีรูปทรงสวยงามเรียงซ้อนกัน มีการใช้งานเป็นหมอนอิงที่ใช้ในการนั่งทำสมาธิ แต่ละชั้นสามารถถอดออกจากกันได้เพื่อสร้างโอกาสในการนั่งสมาธิที่ แตกต่างกันหรือการผ่อนคลายอิริยาบท การออกแบบ ทั้งหมดคำนึงถึงการใช้ชีวิตของคนเมือง

- Fairfex Settee by Kelly Wearstler

โซฟารุ่น Faifax Sattee ออกแบบโดย KellyWearstler ซึ่งเป็นนักออกแบบที่เชื่อเรื่องการเคารพประวัติศาสตร์สถานที่ และสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการผลักดันแนวคิดและท้าทายกฎ  Fairfax Settee มีการออกแบบที่วางแขนและเบาะรองนั่งให้ดูโค้งมนอย่างนุ่มนวลทำให้เก้าอี้นี้ มีความเป็นประติมากรรมและมีความร่วมส่มัยการใช้สี้โทนอ่อนมีส่วนช่วยให้สร้างความรู้สึกเรียบง่ายและเบาสบาย

แนวทางสร้างสรรค์แบบที่ 2 ที่ตอบโจทย์กลุ่ม Serenergy เช่นกันในอีกรูปแบบได้แก่ ”Authentic Raw” หรือสุนทรียะแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ

ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความงาม สร้างสุนทรียะที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบ มุ่งเน้นการนำเสนอถึงเนื้อแท้ของวัสดุที่ดิบหยาบ ซึ่งจากผลงานหัตถศิลป์มากมายรอบโลก รวมถึงนักคิดนักสร้างสรรค์ไทย ได้มีรูปแบบของการโชว์เนื้อแท้ที่ค่อนข้างหลากหลาย และเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ คือหลายผลงานไปมากกว่าเพียงแค่ใช้เนื้อแท้ของวัสดุ แต่เป็นการสร้างความเป็นเนื้อแท้ในแบบฉบับใหม่ อาทิ Mys Lamp ที่เป็นการสร้างโคมไฟจากเส้นใยการเพาะเห็ด หรือผลงานภาชนะเซรามิก Power of Nature ที่เป็นการใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมมาสร้างชิ้นงานซึ่งเกิดเป็นลวดลายเหมือนลายแตกร้าวให้ผู้ใช้ตระหนักถึงความไม่จีรัง

ตัวอย่างผลงานต้นแบบจาก ในโครงการ SACICT Signature Collection 2018 ที่สอดรับกับแนวทางการออกแบบนี้โดยตรงคือ ผลงาน ”จุดเริ่มต้นของเบญจรงค์ โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” ซึ่งแนวคิดของผู้ออกแบบที่เข้ามาร่วมพัฒนาชิ้นงานกับครูช่างหัตศิลป์ คือมุ่งเน้นการนำเสนอเบญจรงค์ไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นมาจากดิน ให้เข้าไปสู่ยุคใหม่โดยใช้วัสดุที่สื่อถึงกระบวนการการทำงานดินเผาเห็นรากและที่มาที่ชัดเจนของชิ้นงาน

- WATER WEED Designed by รัฐ เปลี่ยนสุข

รัฐ เปลี่ยนสุข นำเศษวัสดุสร้างปัญหากลับมาสร้างมูลค่าในงานหัตถกรรม กลายเป็นผลงานร่วมสมัยที่สามารถใช้งานได้กับทุกพื้นที่ภายในบ้าน เก้าอี้ Water Weed ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับโครงการบ้านพักอาศัย Bann Ing Phu หัวหิน โดยให้สอดคล้องกับแนวความคิดที่เน้นวิถีเกษตร ในบ้านพักที่ทันสมัย และสะดวกสบาย เก้าอี้ตัวนี้เป็นหัตถกรรมผักตบชวา โดยพัฒนารูปแบบจากการสานแผ่นรองจานนำมาเข้าทรงสานบนเก้าอี้ยุค 90’s รับด้วยโครงสร้างขาสแตนเลสทำสีทองแดงให้สอดรับ กับสีของวัสดุสานรูปทรงที่เป็น มาตรฐานบวกกับวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ เสนอแนวคิดด้านความยั่งยืนและยังเป็นการกระจายรายได้จากงานก่อสร้างสู่ช่างหัตถกรรม ชุมชน ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน

- Myx Lamp by Jonas Edvard’s

Jonas Edvard เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวเดนมาร์ก ที่มุ่งเน้นไปที่การวิจัยเกี่ยวกับวัสดุจากธรรมชาติ โคมไฟ Myx จาก Mushroom-mycelium (mycelium คือขยุ้มรา) สร้างขึ้นจากเส้นใยจากการเพาะเห็ด โคมจะโตเป็นรูปร่างตามกำหนดใน ช่วง 2-3 สัปดาห์ เมื่อเส้นใยเห็ดเจริญเติบโตรวมกันเป็นเส้นใย ของพืชกลายเป็นสิ่งทอที่มีความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่ม หลังจาก 2 สัปดาห์ก็สามารถเก็บเกี่ยวเห็ดนางรมที่มีประโยชน์ได้ ส่วนที่คงเหลือซึ่งอยู่ในรูปทรงของโคมไฟสามารถทำให้แห้งและถูกใช้ เป็นวัสดุน้ำหนักเบาซึ่งเป็นท้ังอินทรีย์ย่อยสลายได้และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมั่นใจได้ว่าจะคงรูปทรงอย่างแข็งแรงเพราะตัววัสดุ ที่เจริญเติบโตมาพร้อมกับเส้นใยได้แสดงบทบาทเป็นกาวที่ทำให้ คงรูป Myx จึงเป็นโคมไฟที่สร้างขึ้นมาจากผลิตผลที่เป็นขยะจากกระบวนการเพาะปลูกโดยแท้จริง

- Power of Nature into Ceramic by Takuro Kuwata

Takuro Kuwata ศิลปินรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นที่สร้างผลงานด้านเซรามิกโดยการใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Ishi-haze” คือการนำหินไปเผาไฟจนกระทั่งแตก Kuwata ใช้หินขนาดใหญ่ในการเปลี่ยนรูปทรงของ ดินเหนียวในขณะที่กำลังถูกเผาจนเกิดเป็นลวดลายที่สวยงามบนพื้นผิวของชิ้นงาน พื้นผิวที่มีลวดลายแตกร้าวเลียนแบบธรรมชาติสามารถทำได้โดย ใช้เทคนิคของญี่ปุ่นอีกอย่างที่เรียกว่า “Kairagi” ที่สามารถสร้างลวดลาย บนพื้นผิวของเซรามิกได้อย่างสวยงามน่าประทับใจ หลังจากนั้นชิ้นงานจะถูกเคลือบด้วย Feldspar รอยแตกจะเริ่มสร้างลวดลายอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดผลงานที่มีผิวสัมผัสที่ขรุขระและมีลวดลายที่สวยงามในตัว

แนวทางสุดท้ายสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานภายใต้ True Value คือ ”Wasted Alive” เนื่องจากกลุ่มคนแบบ Serenergy นั้น เริ่มให้ความสนใจในความยั่งยืน มีความพอเพียง หรือสนใจในหลักคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้เรื่องราวของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิดนำขยะ หรือของที่ไร้ค่าจากกระบวนการผลิต มารังสรรค์ให้มีชิวิตและมีคุณค่ากลับคืนมา หรืออาจสร้างชิ้นงานที่มีเรื่องเล่าเรื่องราวที่กระตุ้นหรือสร้างให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่เพียงพอ ลดการเบียดเบียนสรรพสิ่งรอบข้างที่มากเกินไปของมนุษย์ด้วยกันเอง

ตัวอย่างชิ้นงานต้นแบบที่ได้เกิดขึ้นในโครงการของ SACICT  ( Innovative Craft Award 2019) ที่สอดรับไปกับแนวคิดนี้ ได้แก่ผลงาน “ซาก” CORALS โดย นายสมยศ สวัสดี ซึ่งเป็น Installation Art ที่สื่อถึงความสูญเสียของระบบนิเวศ ธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยฝีมือของมนุษย์ สร้างสรรค์ผลงานโดยนำวัสดุเหลือทิ้ง อาทิ กระดาษ รีไซเคิล เศษขยะจากทะเลมาใช้ เรียกว่าทั้งที่มาของวัสดุและเรื่องราวที่ต้องการจะเล่านั้น ตรงกับแนวทางของ Wasted Alive และจับใจของกลุ่มเป้าหมายยุคนี้อย่างชัดเจน

- Broken Designed by Maria JJ Juchnowska

ในปีหนึ่งๆ อุตสาหกรรมเซรามิกผลิตเศษเซรามิกเหลือใช้เป็นจำนวนมาก นั่นทำให้ Maria Joanna Juchnowska นักออกแบบ สาวชาวนอร์วีเจี้ยนเลือกหยิบเอาของเหลือเหล่านี้มาทำเป็นเครื่อง ประดับ Broken คือเครื่องประดับจากเซรามิกเหลือใช้ที่เธอหยิบ เอาขอบจานแตก ๆ มาทำเป็นสร้อย หยิบขอบถ้วยมาจัดเป็น ต่างหู ความพิเศษคือเพราะมันทำจากของเหลือ งานแต่ละชิ้นจึง มีชิ้นเดียวในโลก เป็นแรงบันดาลใจว่าการรีไซเคิลก็สร้างงานที่สวย เก๋ และสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน

- Fragment Series Designed by Fictstudio

ในกระบวนการผลิตหินอ่อนจะมีแผ่นหินอ่อนที่แตกหักราว 2,000 กิโลกรัมต่อวัน ที่จะถูกทิ้งเป็นขยะอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ Fict Studio สตูดิโอออกแบบจากประเทศเกาหลีใต้จึงออกแบบผลงานเฟอร์นิเจอร์ในชื่อชุด “Fragment” เพื่อนำหินอ่อนที่แตกหักเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำมาใส่แท่นพิมพ์รูปทรงฉากและหลอมรวมกับเรซิ่นให้ได้รูปทรง ตามที่ต้องการเพื่อนำมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ แผ่นหินอ่อนที่มีลวดลายตามธรรมชาติเมื่อนำมารวมกับเรซิ่นที่โปร่งแสงทำให้เกิดความสวยงามที่น่าสนใจ ผลงานเฟอร์นิเจอร์ในชุด Fragment นี้ประกอบไปด้วย ม้านั่ง เก้าอี้ โต๊ะข้าง และถาด

ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึง ผู้บริโภคกลุ่มที่สอง ก็คือ Utopioneer (ยู-โท-ไพ-โอ-เนียร์) ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น อย่าพลาดติดตามชมกันนะครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ