Sacict Craft Trend 2020 : Utopioneer - Technical Craft (นวัตกรรมแห่งงานหัตถศิลป์)
หลังจากตอนที่แล้วเราได้พูดถึงเทรนด์กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มแรกที่มีชื่อว่า Serenergy (ซี-รีน-เนอร์-จี้) กันไปแล้ว ในวันนี้เราจะมาพูดถึง ผู้บริโภคกลุ่มที่สอง ก็คือ Utopioneer (ยู-โท-ไพ-โอ-เนียร์) ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลยครับ
ผู้บริโภคกลุ่มที่ 2 Utopioneer (ยู-โท-ไพ-โอ-เนียร์)
คนกลุ่มนี้คือ คนที่สนใจในเรื่องราวของโลกในอนาคตที่อาจต้องเผชิญกับความล่มสลายของสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลน ในขณะเดียวกันก็เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ จึงชื่นชอบที่จะเรียนรู้และทดลองเพื่อผลักดันมนุษยชาติสู่การสร้างโลกที่ดีขึ้น
เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เปิดรับความท้าทายของโลกสมัยใหม่และชื่นชอบในเทคโนโลยี ในปี 2020 นี้ Craft Trend ที่เหมาะกับพวกเขาคือ Technical Craft นวัตกรรมแห่งงานหัตถศิลป์
Technical Craft คือแนวโน้มการออกแบบที่ผสานเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อมาบุกเบิกสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์วิถีใหม่ ซึ่งสอดรับกับความต้องการ ความเชื่อและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายแบบ Utopioneer โดยตรง
คีย์เวิร์ดที่สะท้อนนิยามของแนวโน้มทางการออกแบบแบบ Technical Craft ได้แก่
การก้าวข้ามข้อจำกัด (Beyond Limit) เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์และเชื่อว่ายังทำได้มากกว่านี้อีก เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้ไกลกว่าเดิม
การใช้นวัตกรรมเลียนแบบธรรมชาติ เนื่องจาก Utopioneer แม้จะชื่นชอบและสนใจในเทคโนโลยีอย่างมาก แต่หลักคิดคือใช้เทคโนโลยีเพื่อบุกเบิกสู่การสร้างโลกในอุดมคติ โดยโลกในความหมายนั้น ยังคงต้องเป็นโลกที่มนุษย์ใช้ชีวิตคู่กับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี นวัตกรรมการเลียนแบบธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่โหยหาและถูกพัฒนาให้เสมือนจริงหรือเปี่ยมไปด้วยจินตนการได้มากยิ่งขึ้น
และแนวคิดการออกแบบที่ถือประโยชน์เป็นสำคัญ (Utilitarian) คือ น้อย แต่เปี่ยมประโยชน์ใช้สอย
สีสันบรรยากาศของเทรนด์นี้จะเน้นโทนสีเขียวหลากเฉด และสีเทาที่เข้ามาขับเน้นทำให้ดูมีส่วนของความเป็นธรรมชาติแต่มีนวัตกรรมที่ทันสมัยกล่าวถึงอนาคต
ภายใต้ทิศทาง Technical Craft นั้น แนวทางหรือหลักคิดการสร้างสรรค์ชิ้นงานพบแนวทางที่น่าสนใจ 3 รูปแบบ โดยแบบแรกคือ ”Algorithm Craft”
เป็นแนวคิดการสร้างงานคราฟต์ โดยการออกแบบลวดลายและรูปแบบด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนอย่างแม่นยำด้วยระบบ คอมพิวเตอร์ ผสานเอาการคำนวณทางคณิตศาสตร์ด้วยคอมพิวเตอร์มาสร้างพลังในการผลิตด้วยมือให้ทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้ค้นพบผลงานในลักษณะนี้ที่น่าสนใจหลายกรณีศึกษาด้วยกันประเด็นสำคัญคือ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการออกแบบให้มีประสิทธิภาพ หรือเข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ดั้งเดิม หรือทำเรื่องยากที่ทำให้องค์ความรู้ไม่ถูกต่อยอดให้ง่ายขึ้น แต่ยังคงหลักการของการ “ทำด้วยมืออย่างพิถีพิถันอยู่”
ในแนวทางการพัฒนาผลงานหัตถศิลป์ Algorithmic Craft นี้ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจสอดรับกับโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ที่ SACICT จะได้ศึกษาและพัฒนาเพื่อในอนาคตอาจจะเป็น Solution ในการอนุรักษ์ ธำรงรักษากรรมวิธีของผลงานหัตถศิลป์ไทยให้ต่อยอดสืบไป
(Appendix แนบท้ายข้อมูลของผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ เผื่อผู้บรรยายต้องการศึกษาเพิ่มเติม)
- Algorithmic Lace bra Designed by Lisa Marks
Lisa Marks ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการนำความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลมาใช้เพื่อรักษางานฝีมือแบบดั้งเดิม มีการออกแบบเสื้อชั้นในสตรีลูกไม้ที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีอัลกอริทึมและการทอลูกไม้แบบดั้งเดิมของชาวโครเอเชียเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเสื้อชั้นในสตรีที่เป็นเอกลักษณ์ที่มีความเหมาะสมกับร่างกายของสตรีที่เคยผ่าตัดเต้านม
ซึ่งการออกแบบเริ่มจากการสแกนร่างกายของผู้สวมใส่เพื่อคำนวณโครงสร้างร่างกาย ออกมาเป็นรูปทรงดิจิทัลแบบ 3 มิติ และตัดรูปทรงต้นแบบ ของหน้าอกด้วย Foam CNC แล้วส่งต่อให้ช่างฝีมือเพื่อนำไปถักลูกไม้ด้วยรูปแบบ Croatian Bobbin Lace ที่ใช้การ ถัก การบิดเกลียว เพื่อสร้างเป็นลวดลายด้วยการทอมือเป็น ขั้นตอนสุดท้าย สิ่งที่น่าสนใจของงานออกแบบนี้คือการรักษา รูปแบบหัตถกรรมชุมชนดั้งเดิมให้มีความร่วมสมัยไปกับ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ Algorithmic Lace Bra ได้รางวัล Lexus Design Award 2019 ภายใต้โจทย์ตีม “Design for a Better Tomorrow”
- KINEMATICS DRESS Designed by Nervous System
สตูดิโอ Nervous System ได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 4 มิติที่เรียกว่า “Kinematics” สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า Kinematics Dress โดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบและอัลกอริทึมของวัตถุ (Open Dynamics Engine) ผ่านแอปพลิเคชั่นที่เป็น Web-based ชื่อ Kinematics Cloth
เพื่อผลิตแผ่นโมดูลหลายพันชิ้น ที่เกี่ยวกันด้วยข้อต่อ โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติทำให้รูปทรงเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นเดรสชุดแรกที่ผลิตด้วยการพิมพ์โดยไม่ต้องมีส่วนประกอบหรือนำไปประกอบเพิ่มเติม สามารถสวมใส่ได้ทันทีที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สะท้อนถึงความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ อัลกอริทึม ของคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์การออกแบบและวัสดุ จุดกระแสให้เหล่าเมคเกอร์สายไฮเทคลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันสร้างสรรค์ “งานทำมือดิจิทัล” กันอย่างจริงจัง
- The Hybrid Bricolage Designed by Tamara Anna Efrat
โครงการออกแบบงานวิจัยที่มีเอกลักษณ์ผสมผสานความรู้ทางด้าน การออกแบบอุตสาหกรรมด้านงานฝีมือร่วมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการออกแบบเทคนิค “Smocking” หรือ เทคนิคการจับจีบและการรูด หรือทำให้เนื้อผ้าเกิดรอยย่นด้วยการนำด้ายไหมปัก หรือไหมพรม สอดหรือตรึงตามจุดต่าง ๆ
เพื่อ ให้เกิดลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับช่างฝีมือมือใหม่ให้สามารถ ออกแบบลวดลายได้ด้วยตนเองแม้จะเป็นมือใหม่ก็ตาม โดยวิธีการ ของแพลตฟอร์ม ช่างฝีมือจะสามารถออกแบบลวดลาย Smocking โดยเลือกจาก Honeycomb Smocking Pattern Catalog และ ซอฟต์แวร์การออกแบบ Custom Computer-Aided Smocking (CAS) วิเคราะห์รูปแบบลวดลายที่ต้องการ วิเคราะห์ลักษณะทาง สัณฐานของรูปแบบที่เลือกโดยใช้อัลกอริทึมคำนวณเป็นแพทเทิร์น
และกำหนดจุดของการจับจีบและรูด และการกำหนดรอยย่นของ เนื้อผ้าสำหรับการเย็บ ซึ่งข้อดีคือช่างฝีมือสามารถสร้างและผสม ผสานรูปแบบของการเย็บให้เกิดความหลากหลายสร้างเป็นลักษณะ เฉพาะของตนเองขึ้นมา
- Algorithmic Origami Designed by Pushan Panda
Origami คือศิลปะการพับกระดาษแบบดั้งเดิม นำมาผสมผสานด้วยการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนารูปแบบ การพับ การตัด จึงเกิดการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ประติมากรรมโลหะที่แสดงออกถึงการพัฒนานวัตกรรมทาง เทคโนโลยี โดยหลักการคือการคำนวณรูปทรงที่สร้างขึ้นจาก โปรแกรม 3 มิติ คำนวณรูปแบบจาก Polygon ออกมาเป็นรูปแบบรอยพับและตัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการตัดแผ่นโลหะโดย ใช้ Laser Cut สร้างเป็นงานประติมากรรม Origami ขึ้นมา
แนวทางที่สอง คือ “Biomimicry”
เพราะโลกในอุดมคติที่กลุ่มเป้าหมาย Utopioneer สนใจที่จะบุกเบิกนั้น ยังคงเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Biomimicry เป็นกลุ่มงานสร้างสรรค์งานคราฟต์ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างเรื่องราวที่เลียนแบบธรรมชาติอันน่าสนใจ ด้วยการใช้วิทยาการสมัยใหม่ หรือวิธีการใหม่ ๆ ที่เหมือนเป็นการทดลอง เข้ามาทำให้ภาพในจินตนาการออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก หรือสร้างการตระหนักรู้ของเรื่องราวของธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในโครงการพัฒนาหัตถศิลป์ของ SACICT (Innovative Craft Award 2019) ที่มีการพัฒนาให้สอดรับกับแนวทางนี้ เช่น ผลงาน “จิบเวลา โดย โสภณัฐ สมรัตนกุล” งาน Installation Art ที่เกิดจากจากความประทับใจในบรรยากาศริมทะเลสู่การออกแบบชิ้นงานที่มีพื้นที่รับแสงและเกิดการสะท้อนชวนให้นึกถึงผิวหน้าของทะเลที่สงบนิ่ง ซึ่งงานนี้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้ทำงานประสานกับครูช่างหัตถศิลป์จนสามารถคิดค้นเทคนิคใหม่การเคาะโลหะแผ่นเล็กที่ประกอบกันสร้างพื้นผิวที่เหมือนน้ำผสมผสานกับรากไม้สักได้ ทำให้เกิดผลงานที่ได้ออกมาดั่งจินตนาการของนักออกแบบที่วาดภาพไว้
- Resemble nature hand-tufted carpets Designed by Alexandra Kehayoglou
Alexandra Kehayoglou นักออกแบบพรมจากเมือง Buenos Aires ออกแบบพรมทอมือโดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายโดยโดรนเพื่อสร้างพรมที่ถ่ายทอดลักษณะทางชีวภาพและภูมิทัศน์ทางธรรมชาติของพื้นที่่ ป่าบริเวณต่าง ๆ ราวกับเป็นแผนที่ของภูมิทัศน์ที่ได้รับการอนุรักษ์ พื้นที่ที่หายไป หรือพื้นที่ที่ใกล้สูญพันธุ์ทาง ชีวภาพ เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติและเชื่อมโยงคนให้เข้ามามองและเห็นความสำคัญ ของป่าที่ถูกหลงลืม
- Specimens of Abstraction, by G. William Bell
G. William Bell นักเป่าแก้วจากฟลอริด้าสร้างภาชนะแก้วทรงเรขาคณิตจากการหลอมละลายของแท่งกระจกสีต่าง ๆ (Flux & Glow) ด้วยการไล่ระดับสีแสดงออกถึงความคิดเชิงนามธรรม ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างโครงสร้าง เส้นสาย และจำลอง ความซับซ้อนของชีวภาพ แสดงออกถึงคุณสมบัติโดยธรรมชาติ บางชิ้นมีลักษณะคล้ายกับจานเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตัวชิ้นงานแสดงออกถึงการนำแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะและ งานฝีมือมาหลอมรวมกัน
- AS ABOVE, SO BENEATH by Zuza Mengham
ประติมากรรมจากเรซิ่นที่เลียนแบบวิธีการทับถมและ ความหนาแน่น ของชั้นหินที่อยู่ในธรรมชาติแต่ละชั้นหินมีลักษณะในตัวของมันเอง สื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาทางภูมิทิศน์ วัฒนธรรม และสังคมที่ล้วนแต่มีความแตกต่างกัน
แนวทางการออกแบบที่สาม ภายใต้ Technical Craft นั้นเป็นการกล่าวถึงความงามที่เกิดจากการออกแบบประโยชน์ใช้สอยที่ชาญฉลาด “Utilitarian Aesthetic”
ในโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการมากมาย หรือแม้แต่เรื่องราวและเรื่องเล่าทางภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมที่รายล้อมอยู่ก็ตาม เราพบว่าสิ่งที่เรียบง่ายแต่มุ่งเน้นไปที่การใช้งานที่ชาญฉลาดก็ยังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนอยู่
แนวทางการออกแบบแบบ Utilitarian Aesthetic คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์คราฟต์ที่มีแนวคิดในการออกแบบมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นที่ตั้งแล้วจึงตามมาด้วยรูปทรงและสีสันที่สอดคล้องกับการใช้งานนั้น หรืออาจมุ่งเน้นไปที่การยกระดับประสิทธิภาพการใช้งานกับวัสดุเดิมให้ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่มากขึ้น
ตัวอย่างผลงานหัตถศิลป์ที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้งานให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยเลือกใช้เทคนิคจากงานหัตถศิลป์ชั้นครูมาสร้างสรรค์ก็มีให้เห็นเช่นกัน ดังตัวอย่างต้นแบบชิ้นงานในโครงการ Cross Cultural Craft 2019 ”กล่องเครื่องสำอาง โดย นายชาตรี เนื่องจำนงค์” ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2561 ที่นักออกแบบได้นำเทคนิคการเข้าเดือยเพื่อทำบานพับจากประเทศญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์กล่องเครื่องสำอางงานไม้ด้วย เทคนิคเข้าเดือยโดยไม่ใช้ตะปูตอกยึด
- Seamless Designed by I Ro Se
Seamless คือผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ I Ro Se (อิ-โร-เซะ) ของประเทศญี่ปุ่น ใช้แนวคิดของออริกามิเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังคุณภาพสูงและใช้เทคนิคงานฝีมือของญี่ปุ่นที่ใส่ใจในรายละเอียด การประกอบชิ้นงานโดยไม่ให้มีรอยเย็บ สะท้อนถึงความโดดเด่นของการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์และรูปแบบการใช้งานที่เรียบง่าย
- TiKA Modular Design Kit Designed by Florin Cobuz & Adrian Enache
TiKA โดย Florin Cobuz และ Adrian Enache ได้ยกระดับการปรับแต่งตามความต้องการของผู้ใช้งานไปอีกขั้น ผลิตภัณฑ์นี้ถูกออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนการประกอบได้หลายรูปแบบตามความต้องการ โดยมีโครงสร้างเพียงแค่แท่งไม้และลูกโลหะที่ใช้แม่เหล็ก Neodymium เป็นส่วนประกอบเพื่อเชื่อมต่อแท่งไม้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
ชุดโคมไฟ TiKA ประกอบด้วยแท่องไม้ที่มีหลอด LED และฐานไม้ที่ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่วนชุด TiKA Plant จะมาพร้อมกับกระถางคอนกรีตสำหรับปลูกต้นไม้ขนาดเล็กให้เลื้อยไปตามแท่งไม้ ทั้งหมดนี้เหมาะสำหรับนำไปใช้ตกแต่งบ้านและสำนักงาน เป็นการตกแต่งภายในแบบร่วมสมัย
-ผ้าไหมคุณสมบัติทำความสะอาดตัวเอง โดย นัดดาวดี บุญญะเดโช
ผลิตภัณฑ์กระเป๋าร่วมสมัยที่นำเทคโนโลยีงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดทำให้ผ้าไหม มีคุณสมบัติทำความสะอาดตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการซักชำระเมื่ออยู่ ภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต
ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึง ผู้บริโภคกลุ่มที่สาม ก็คือ Anti-boring (แอน-ไท-บอ-ริ่ง) ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น อย่าพลาดติดตามชมกันนะครับ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม