Sacict Craft Trend 2020 : Anti-boring - Happiness Play (เล่นอย่างสร้างสรรค์)

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงเทรนด์กลุ่มผู้บริโภคสองกลุ่มแรกกันไปแล้ว ในวันนี้เราจะมาพูดถึง ผู้บริโภคกลุ่มที่สาม ก็คือ Anti-boring (แอน-ไท-บอ-ริ่ง) ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลยครับ

ผู้บริโภคกลุ่มที่ 3 Anti-boring (แอน-ไท-บอ-ริ่ง)

คนกลุ่มนี้เป็นคนที่สนใจกับการปลดปล่อยตัวตนที่แตกต่างและมีอัตลักษณ์ ต้องการโดดเด่นไม่เหมือนใคร ในขณะเดียวกันก็เปิดใจให้กับเทคโนโลยีล้ำสมัย คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่เราให้นิยามพวกเขาว่า ขี้เบื่อเบื่อความซ้ำซากเบื่อความเหมือนๆ กันไปหมดไม่แตกต่าง จึงได้ชือว่า Anti-boring

Anti-boring (แอน-ไท-บอร์-ริ่ง) กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ขี้เบื่อ ต้องการแตกต่าง ไม่ชอบความซ้ำซาก ต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ในปี 2020 นี้ Craft Trend ที่เหมาะกับพวกเขาคือออกแนวเป็น ความสนุกสนานทีสร้างสรรค์ ”Happiness Play”

เมื่อกลุ่ม Anti-boring คือคนขี้เบื่อ แนวทางการออกแบบที่จะสอดรับกับความต้องการของพวกเขาคือ Happiness Play ซึ่งเป็นแนวโน้มการออกแบบที่นำเสนอด้วยความอิสระ นอกกรอบ นำเสนอเทคนิคและวิธีการใหม่ ๆ ด้วยอารมณ์สนุกสนาน สดใส มองโลกในแง่ดี เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการทดลองสิ่งแปลกใหม่ โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญคือ

  • การมองโลกในแง่ดี (Positive)
  • มีจินตนาการ เพ้อฝัน (Fantasy)
  • การสนใจในเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของชนเผ่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Tribal)

Mood and Tone ของ Happiness Play จะมีสีสันที่ค่อนข้างสดใส สนุกสนาน และเปี่ยมไปด้วยลวดลายที่มาจากวัฒนธรรมผสมผสาน หรือลวดลายที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้น เหนือจินตนาการ

แนวทางการออกแบบภายในแนวโน้ม Happiness Play ที่ทีมวิจัยพบเห็นทิศทางที่น่าสนใจกลุ่มแรกคือ ”Illuminated Imagination”

คือ การใช้เทคนิคด้านสีสัน และแสงรุ้งมาช่วยสร้างภาพของตัวชิ้นงานที่ดูเหนือจินตนาการ โดดเด่น แตกต่าง  โดยไม่ได้มีที่มาของแรงบันดาลใจที่ชัดเจนจากอะไรที่จับต้องได้ จากตัวอย่างจะเห็นว่ามีนักคิดนักสร้างสรรค์จากหลากหลายแหล่งที่มา และยังใช้วัสดุที่แตกต่างกันแต่หลักคิดคือเป็นงานออกแบบที่สร้างความสุข สร้างจินตนาการ และเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ใกล้เคียงกัน

ผลงานที่เรียกว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างงานหัตถศิลป์แบบต้นตำรับ (Origin) ที่สุดในภาพนี้ น่าจะเป็นผลงาน “คอลเล็กชั่นกระจูดย้อมสี โดย มนัสพงษ์ เซ่งฮวด” นักออกแบบในโครงการ Cross Cultural Craft 2018 ของ SACICT

ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าของเครื่องใช้ประจำวัน อาทิ ตะกร้า เสื่อ และกระเป๋า ให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่าง ผ่านทางเลือกใหม่ของวัสดุหรือการใช้สีสันสดใส และการเล่นลายที่ไม่ธรรมดา นำลวดลายดั้งเดิมมาประยุกต์ให้เป็นลายกราฟิกที่ดูทันสมัยขึ้น มีความเป็นงานศิลปะมากขึ้น

หรืองานที่ทันสมัยและมีความคิดสร้างสรรค์มากโดยฝีมือนักออกแบบไทยในโครงการของ SACICT  (Innovative Craft Award 2019) อีกผลงานคือ “The Vivid Coral Designed by Wichulada Panthanuvong”

ซึ่งนักออกแบบใช้วัสดุจากสิ่งรอบตัวที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเศษพลาสติก ของเล่นเหลือทิ้ง ขยะต่าง ๆ มาสร้างสรรค์และจินตนาการจนเกิดเป็น แชนเดอเลียขนาดยักษ์ที่สามารถใช้งานได้จริง ด้วยสีสันของวัสดุหลัก คือหลอดที่หลากสีช่วยให้ชิ้นงานมีความสดใสและสนุกสนาน งานนี้ช่วย เสนอไอเดียการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของวัสดุทางเลือก เพื่อคืนคุณค่าให้กับขยะเหลือทิ้งอีกครั้งหนึ่ง

- Tropicalia Outdoor Armchair

โครงสร้างท่อเหล็กของโครงการ Antibodi กลายเป็นแบบจำลอง ที่ผู้ออกแบบสร้างแต่งเติมขึ้นโดยใช้เฟรมเปลี่ยนรูปทำให้ที่นั่งมีบุคลิกที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ เส้นลวดหลากสีที่พันขึงรอบโครงสร้างของท่อเหล็กมีความคล้ายคลึงกับจังหวะลากดินสอ เส้นสายต่าง ๆ ทำหน้าที่ทั้งสร้างสีสันและโครงสร้างไปในตัว เกิดเป็นชิ้นงานที่สนุกสนาน ขี้เล่น

- Shimmer Side Table Italian Handcrafted Glass Designed by Patricia Urquiola

Shimmer โต๊ะข้างที่ออกแบบโดย Patricia Urquiola สำหรับบริษัท Glas Italia บริษัทกระจกลามิเนตในเมือง Macherino ใกล้กับมิลาน แต่ละชั้นทำด้วยมือโดยช่างทำแก้วระดับสูงของอิตาลี เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้โดดเด่นด้วยการเคลือบผิวแบบสีรุ้งพิเศษ มีความแตกต่างตามมุมของแหล่งกำเนิดแสง เกิดเป็นงานศิลปะสีรุ้งด้วยวัสดุโปร่งแสง คอลเล็กชั่นนี้มีท้ังโต๊ะสูงและโต๊ะเตี้ยและสามารถทำผิวกระจกแบบใสได้

แนวทางการออกแบบกลุ่มที่ 2 ที่สนุกสนานตอบโจทย์คนขี้เบื่อได้แก่ “Avant-garde Tribal”

โดยเป็นแนวคิดการสร้างสรรค์ชิ้นงานคราฟต์ที่อิงเอาวัฒนธรรมที่โดดเด่นของกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ มาต่อยอดในรูปแบบที่มีความทันสมัย ภาษาการออกแบบที่ดูขี้เล่น บางผลงานก็แฝงแนวคิดที่ต้องการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เช่น ผลงานจากการพัฒนาในโครงการ Craft Co-creation ของ SACICT  

“Exotic Pop Collection โดย ศรัณย์ เย็นปัญญา” ที่เป็นการนำเสน่ห์ของการทอผ้าพื้นเมือง ผ้าชาวเขา มาดัดแปลงเป็นสินค้าของคนเมืองที่มีวิถีชีวิตวุ่นวายโดยให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ด้วยแนวคิด “EXOTIC POP”

จากภาพจะเห็นว่างานศิลปะที่นำมาสร้างสรรค์คู่กับวิธีการผลิตของช่างฝีมือดั้งเดิมนี้ แอบชวนกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ให้คิดถึงศิลปะในยุคของพวกเขา เช่น ภาพลายเส้นจากการ์ตูน หรือตัวละครจากวรรณคดีเป็นต้น จะเห็นว่ารูปแบบการทำงานในแนวทาง Avant-garde Tribal นี้สามารถไปได้มากกว่าเพียงแค่การลดทอนให้ทันสมัยเท่านั้น หากแต่สามารถสร้างความรู้สึก สร้างบทสนทนาบางอย่างระหว่างสิ่งของกับผู้ใช้ได้อย่างน่าสนใจ

ผลงาน The New Experiment  จากโครงการ SACICT Signature Collection 2018 โดย บุญญารัตน์ ลิ้มวัชราวงศ์  ภายใต้แนวคิดที่เกิดจากการศึกษาประวัติศาสตร์และรูปแบบของเบญจรงค์ คือ แพทเทิร์น จังหวะ และการซ้ำในลวดลาย นำมาปรับใช้กับการออกแบบที่เชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

และแนวทางการออกแบบกลุ่มที่ 3 ของ Happiness Play คือ ”Humorous Experiment”

เป็นกลุ่มแนวทางการออกแบบที่เน้นการเล่น การทดลองกับวัสดุและรูปทรงอย่างอิสระ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน มีการทดลองกับรูปทรงและวัสดุ การสร้างลวดลายหรือ Pattern ใหม่ เพื่อผลลัพธ์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ชัดเจน ซึ่งแนวทางนี้จะต่างจาก Avant-garde Tribal ตรงที่ไม่ได้มีที่มาที่ไปจากรากทางวัฒนธรรม แต่โดดเด่นไปด้านของการทดลองที่นอกกรอบและไร้กฎเกณฑ์อย่างแท้จริง

ตัวอย่างผลงานของนักออกแบบและครูช่างหัตถศิลป์ไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบประเภทนี้ เช่น ผลงาน “ศิลปะแห่งการผสาน Design by สุเมษ ง้วนจินดาและ Salt and Pepper Design Studio” ที่ได้แรงบันดาลใจจากการใช้สีและเทคนิคการเขียนภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ นำมาทดลองสร้างผลงานเซรามิกตั้งแต่การผสมดินให้มีสีแตกต่างกัน และสร้าง ความเคลื่อนไหวของสีในเนื้อดินอย่างไม่จงใจ ด้วยเทคนิคการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์

- เสื้อสูทย้อมและสาน Designed by Munzaa: The Urban Craft

อิสรภาพทางความคิดที่แสดงออกผ่านงานคราฟต์ที่นำผ้ามาย้อมก่อน มาตัดก่อน และเย็บก่อน แล้วจึงมาสานต่อ แสดงถึงความเรียบง่าย แต่ก็ซับซ้อน สร้างสรรค์ผลงานบนความคิดต่างอย่างปรองดอง  

ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึง ผู้บริโภคกลุ่มที่สี่ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้าย ก็คือ Precidealist (พรี-ไซ-เดียว-ลิสต์)  ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น อย่าพลาดติดตามชมกันนะครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ