5 โปรเจกต์เมืองลอยน้ำจากทั่วโลก จินตนาการที่กำลังจะเป็นจริง! (Futuristic Floating City)

สืบเนื่องจากปัญหาโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและทำให้ระดับน้ำทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาเรื่องจำนวนประชากรที่มากขึ้น มนุษย์จึงเริ่มขยับขยายพื้นที่ในการอยู่อาศัยจากบนแผ่นดินไปยังมหาสมุทรซึ่งเป็นพื้นส่วนใหญ่ของโลกใบนี้โดยมีสัดส่วนมากถึง 70% และอีก 30% ที่เหลือคือผืนแผ่นดินที่มนุษย์ใช้อยู่อาศัย

 

หากเราสามารถจัดการกับข้อจำกัดต่างๆ ในการมีชีวิตอยู่บนผิวน้ำได้ โลกเราคงจะเปลี่ยนไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคม สังคม และเศรษฐกิจ ราคาที่ดินอาจจะตกต่ำลงจนแทบไม่เหลือค่า เพราะผู้คนสามารถเลือกที่จะอยู่อาศัยบนผิวน้ำได้

 

หากพูดถึงแนวคิดเรื่องเมืองลอยน้ำเมื่อราว 10 กว่าปีก่อนอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ (Sci fi: Science fiction) แต่ปัจจุบันมันกำลังจะกลายเป็นจริงแล้ว ด้วยความร่วมมือกันของหลายๆ องค์กร ทั้งสถาบันการศึกษา บริษัทออกแบบ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายๆ แห่ง ก็ต่างทุ่มเทศึกษา วิจัย พัฒนาความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองลอยน้ำเหล่านี้ 

 

วันนี้ WAZZADU.COM จะพาไปชม 5 โปรเจกต์เมืองลอยน้ำที่มีความโดดเด่นทั้งด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม มีความเป็นได้ในเชิงวิศกรรมและการใช้งาน รวมถึงมีหลักการและแนวคิดที่สะท้อนถึงความยั่งยืนกันครับ   

French Polynesia

French Polynesia

French Polynesia

French Polynesia

Project: French Polynesia 

Designer: Koen Olthuis, Dutch

Engineer: Blue21​, Dutch

 

เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสถาบัน Seasteading ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรตั้งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก และรัฐบาลเฟรนช์พอลินีเซียเพื่อเริ่มทดสอบการสร้างเมืองในน้ำ แนวคิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรเมื่อปี 2008 และคาดว่าโครงการนี้จะเปิดใช้งานได้ภายในปี 2020 นี้!

 

จุดประสงค์หลักของแนวคิดนี้คือ “การให้อิสระมนุษยชาติจากบรรดานักการเมือง” และ “เพื่อบัญญัติกฎที่จะปกครองสังคมขึ้นมาใหม่” เนื่องจาก French Polynesia (เฟรนซ์ โพลีนีเซีย) คือเขตรัฐบาลกลางโพ้นทะเล ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส จึงเป็นการสะดวกที่จะสร้างเมืองใหม่โดยปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายแบบเดิม โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสังคม และเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว 

 

เหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการคือ เมือง French Polynesia (เฟรนซ์ โพลีนีเซีย) นี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึงได้ง่ายทำให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง การลงทุนในการสร้างเมืองลอยน้ำจึเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาเรื่องการย้ายออกของคนในประเทศอันมีสาเหตุมาจากพื้นที่ในการอยู่อาศัยไม่เพียงพอ

 

ชุมชนแห่งนี้จะประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปาการกำจัดของเสีย องค์ประกอบของเมืองซึ่งคือ บ้านเรือน โรงแรม สำนักงาน และร้านอาหารเมืองลอยน้ำในอุดมคตินี้เฟสแรกมีมูลค่ามหาศาลราว 167 ล้านเหรียญ สำหรับเฟสต่อไปโครงการนี้จะได้รับเงินทุนสำหรับการก่อสร้างจาก ปีเตอร์ ธีล หรือผู้ก่อตั้ง PayPal นั่นเอง

Next Tokyo District

Next Tokyo District

Next Tokyo District

Next Tokyo District

Project: Next Tokyo 2045 (A Mile-High Tower Rooted in Intersecting Ecologies​)

Designer: Kohn Pedersen Fox Associates 

Engineer: Leslie E. Robertson Associates​

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองโตเกียวนั้นมีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงอยู่บ่อยครั้ง เช่น พายุไต้ฝุ่น ทางรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีแผนสำหรับป้องกันพื้นที่ราบต่ำรอบๆ อ่าวโตเกียว นั่นคือการสร้างเมืองใหม่ในอ่าวโตเกียวที่มีความยาวกว่า 14 กิโลเมตร ระหว่างเมืองคาวาซากิและคิระซะรุ เพื่อทำหน้าที่เป็นกำแพงป้องกันพื้นที่รอบๆ อ่าว นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเส้นทางใหม่ในการเดินทางระหว่างสองเมืองซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรในจุดที่เป็นคอขวดอีกด้วย โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2045 นี้ 

 

พื้นที่สร้างเมืองใหม่นี้จะมีหลักษณะเป็นเกาะหกเหลี่ยม มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 150 - 1500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ราว 12.5 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นดินประมาณ 25% การวางตำแหน่งแบบกระจายตัวเป็นชั้นๆ จะช่วยลดความแรงของคลื่น รวมถึงเพื่อไม่ให้ขวางเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้า เมืองใหม่นี่นี้คาดว่าน่าจะรองรับคนได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

 

จุดเด่นของพื้นที่ใหม่นี้คือตึก Sky Mile Tower ซึ่งมีความสูงถึง 1,609 เมตร ประกอบด้วยอาคารย่อย 6 ตึกเรียงตัวแบบสลับกันบนฐานรูปหกเหลี่ยม เป็นอาคารสูงสมัยใหม่ที่เน้นความยั่งยืน มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย อาคารหลังนี้สามารถรองรับผู้อาศัยได้ 55,000 คน ภายในก็จะแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และโรงแรม เป็นต้น

Oceanix City

Oceanix City

Oceanix City

Oceanix City

Project: Oceanix​ City​

Designer: Bjarke Ingels, Studio Other Spaces, Center for Zero Waste Design, Mobility in Chain

Engineer: Sheerwood Design Engineers, Transsolar Klima Engineering, 

 

คอนเซปต์หลักของโครงการคือ Ocean farming นั่นคือโครงการสามารถผลิตอาหารได้เอง จุดเด่นอยู่ที่ฐานโครงสร้างที่มีชื่อว่า Biorock เป็นวัสดุที่พัฒนามาจากแร่ธาตุใต้น้ำนำมาประกอบเป็นฐานรูปหกเหลี่ยมเคลือบด้วยหิน limestone 3 ครั้ง ทำให้แข็งกว่าคอนกรีตมีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ทนทานต่อกระแสน้ำ และสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ Biorock สามารถใช้เลี้ยงหอยสแกลลอบ หรือสัตว์ทะเลชนิดอื่นได้ มูลของสัตว์น้ำเหล่านี้จะเป็นอาหารให้กับพืชใต้น้ำอื่นๆ เช่น สาหร่ายได้ เกิดเป็นระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ ในส่วนของพื้นที่ด้านบนบางส่วนใช้ทำการปลูกพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี   

 

Oceanix City ไม่อนุญาตให้ใช้รถยนต์หรือรถบรรทุกที่ปล่อยควันไม่ว่าจะเพื่อการสัญจรหรือการเก็บขยะ ในการสัญจรให้ใช้จักรยานและการเดินทางทางน้ำเป็นหลัก ส่วนการกำจัดของเสียจะใช้ท่อที่อัดลมในการส่งขยะไปยังสถานีเพื่อทำการกำจัดต่อไป นอกจากนี้ยังมีศูนย์ที่คอยควบคุมดูแลคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ เมืองลอยน้ำแห่งนี้จะตั้งอยู่เฉพาะในจุดที่มีน้ำลึกเพียงพอที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ และแท่นต่าง ๆ จะถูกลากไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยได้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น เฮอร์ริเคน 

 

ตัวอาคารที่อยู่ในโครงการประกอบไปด้วยสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย ห้องสมุด แลอื่นๆ โดยแต่ละอาคารจะมีความสูงประมาณ 4- 7 ชั้น จะไม่มีอาคารที่สูงกว่านี้เพื่อความเสถียรของตัวฐาน อาคารแต่ละหลังจะใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติในการก่อสร้าง เช่น ไม้ไผ่ ไม้สัก

 

โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง UN-Habitat ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืนจะร่วมมือกับบริษัทเอกชน Oceanix, สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology-MIT) และ The Explorers Club ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพที่สนับสนุนการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อผลักดันแนวคิดนี้

Aequorea City

Aequorea City

Aequorea City

Aequorea City

Project: Aequorea​ Victoria​

Designer: Vicent Callebaut ​

 

เมืองลอยน้ำแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นมาจากสาหร่ายทะเล และพลาสติกหรือขยะในทะเลนำมาฉีดขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Print และจะตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งเมือง ริโอ เดอจาเนโร ชื่อโครงการนั้นมาจากชื่อของแมงกะพรุนสายพันธุ์ Aequorea​ Victoriaนั่นเอง จุดประสงค์ของโครงการคือเพื่อจำกัดขยะและคราบน้ำมันที่มีอยู่อย่างมหาศาลในท้องทะเล และช่วยให้แต่ละพื้นที่มีแหล่งพลังงานทางเลือกแบบพึ่งพาตัวเองได้

 

เมืองนี้สามารถบรรจุคนได้ถึง 20,000 คน ภายในประกอบไปด้วยพื้นที่ส่วนกลาง ห้องทดลองปฏิบัติการ ห้องวิทยาศาสตร์ โรงงานรีไซเคิล โรงแรมเพื่อการศึกษา สนามกีฬา และฟาร์มเกษตรแบบผสมผสาน ในแต่ละโดมจะมีความสูงประมาณ 250 ชั้นหรือ 1,000 เมตร เลยทีเดียว 

 

โครงสร้างใต้น้ำมีฟังก์ชั่นสำหรับบำบัดและบรรเทามลพิษในสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีอันชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นทั้งรีไซเคิลขยะในทะเลให้เกิดประโยชน์ และเติมแคลเซียมคาร์บอเนตให้เป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล นอกจากนี้ยังมีกระบวนการบำบัดน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดเพื่อใช้อุปโภคบริโภคได้ แนวคิดนี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นโรงแรมใต้น้ำที่เมืองดูไบเร็วๆ นี้ด้วย

Lilypad: The Smart Floating City

Lilypad: The Smart Floating City

Lilypad: The Smart Floating City

Lilypad: The Smart Floating City

Project: Lilypad (The Smart Floating City​)

Designer: Vicent Callebaut ​

 

Lilypad ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของใบบัวขนาดใหญ่ อะมาโซเนีย วิคตอเรีย เรเจีย ลิลี่แพด ที่มีลักษณะเป็นใบกว้างลอยอยู่เหนือน้ำคอยรองรับน้ำฝนและฟอกน้ำให้สะอาด มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการอยู่อาศัยของมนุษย์เนื่องจากะดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่จะทำให้เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเช่น โตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน หรือแม้แต่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองบาดาลภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

เมืองนี้จะสามารถจุประชากรได้ถึง 50,000 คน บ้านแต่ละหลังสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เอง มีทะเลสาบอยู่ตรงกลางเพื่อเก็บน้ำฝนสะอาดไว้ใช้งาน และช่วยให้ตัวโครงสร้างทั้งหมดมีการถ่วงน้ำหนักที่ดีและเสถียรขึ้น ที่สำคัญคือเมืองนี้จะสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าปริมาณการใช้งาน โดยสามารถผลิตพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานจากคลื่น พลังงานลม และอื่นๆ 

 

ตัวโครงการมีฐานเป็นวงกลมโดยมีรูปด้านเป็นแนวตั้งทรงภูเขาอีก 3 ลูกที่สูงไม่เท่ากัน สำหรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ร้านค้าต่างๆ และสำหรับการรับชมทิวทิศน์ของผู้คนในเมือง สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปจะถูกปกคลุมไปด้วยพืชพรรณต่างๆ ทั้งที่ใช้เเป็นอาหารและแหล่งพลังงาน มีทางการเข้า-ออกได้ด้วยท่าเรือ 3 ท่า 

เมืองลอยน้ำเหล่านี้ที่นับว่าเป็นความท้าทายที่สุดในศตวรรษในการสร้างนิยามและความหมายใหม่ให้กับคำว่าที่อยู่อาศัยเลยทีเดียว คุณคิดว่าจากวันนี้จนถึงปี 2045 นั้นเป็นระยะเวลานานแค่ไหน บางท่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นอนาคตที่ยาวไกลและยังมาไม่ถึงง่ายๆ แต่ถ้าลองคิดว่ามันใช้เวลาเท่ากันกับที่เราย้อนไปในปี 1995 ล่ะ ไม่นานเลยใช่มั้ยครับ เรื่องนวัตกรรมต่างๆ นับวันจะพัฒนารวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราควรติดตามและอัพเดทข่าวสารต่างๆ ให้ทันท่วงที ติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ที่นี่ครับ WAZZADU.COM

ที่มาและรูปภาพ

https://www.sciencealert.com/french-polynesia-just-revealed-plans-to-build-the-world-s-first-floating-city

- http://www.spoon-tamago.com/2016/01/30/could-tokyo-bay-host-a-floating-eco-city-in-30-years/

- https://www.businessinsider.com/un-floating-city-housing-hurricanes-2019-4

- https://www.dezeen.com/2015/12/24/aequorea-vincent-callebaut-underwater-oceanscrapers-made-from-3d-printed-rubbish-ocean-plastic/ 

- http://thisbigcity.net/two-very-different-visions-for-floating-cities/

 

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ