วิวัฒนาการของประตู-หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม EP.1

ประตู-หน้าต่างมีความหมายมากกว่าเพียงแค่ช่องทางเข้า-ออก และการเปิด-ปิดพื้นที่ต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ประตู-หน้าต่างเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงความเชื่อ ศิลปกรรม และความเจริญรุ่งเรืองในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น

วิวัฒนาการของประตูในงานสถาปัตยกรรม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของประเภทของประตูและวัสดุที่ถูกค้นพบ ถูกประดิษฐ์คิดค้น และถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย ดังนี้

  • ยุคก่อนคริสตศักราช (BC)
    • 3000 ปีก่อนคริสตศักราช: ทวีปยุโรปเริ่มใช้ประตูไม้
    • 2000 ปีก่อนคริสตศักราช: ทวีปเอเชียเริ่มใช้ประตูหิน
    • 587 ปีก่อนคริสตศักราช: พระเจ้าซาโลมอนผู้สร้างวิหารแห่งซาโลมอนใช้แผ่นไม้มะกอกชุบทองคำปิดหน้าวิหารในกรุงเยรูซาเลม

 

  • ยุคคริสต์ศตวรรษ (Century AD)
    • คริสต์ศตวรรษที่ 1: ประตูบานพับและบานเลื่อนเริ่มใช้ในนครโรมันโบราณปอมเปอี
    • คริสต์ศตวรรษที่ 1: ประตูอัตโนมัติถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกโดยนักวิชาการชาวกรีก
    • คริสต์ศตวรรษที่ 5: ประตูอัตโนมัติมีเซ็นเซอร์ที่เท้าถูกประกอบขึ้นครั้งแรกในจีน
    • คริสต์ศตวรรษที่ 6 - 9: ทองแดงและสัมฤทธิ์ถูกใช้กับประตูในยุโรปสมัยกลาง
    • คริสต์ศตวรรษที่ 12 - 15: ประตูไม้ถูกแกะสลักอย่างอ่อนช้อยตามศิลปะนิยมของยุคสมัย

 

  • ยุคคริสต์ศักราช (AD)
    • ค.ศ.1881: ประตูหมุนถูกประดิษฐ์ในเยอรมนี
    • ค.ศ.1909: นักเคมีชาวอเมริกันประดิษฐ์วัสดุพอลิเมอร์ครั้งแรก
    • คศ.1932: นักวิจัยของบริษัทโอเว่นส์อิลลินอยส์ (Owens-Illinois, Inc.) ได้สร้างสรรค์อุตสาหกรรมการผลิตไฟเบอร์กลาส (Fiberglass)
    • ค.ศ.1970 - 1979: การผลิตวัสดุพอลิเมอร์ล้ำหน้ากว่าการผลิตเหล็กทั่วโลก
    • ค.ศ.1981: บริษัทสเปเชียล-ลิท (Special-Lite, Inc.) ได้สร้างสรรค์ประตูพลาสติกเสริมแรงด้วยเส้นใย (FRP; Fiber Reinforced Polymer) ครั้งแรกของโลก

จากข้อมูลข้างต้น วิวัฒนาการของประตูในงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เกิดจากเทคโนโลยีทันสมัยของซีกโลกตะวันตก แต่ประตู-หน้าต่างในซีกโลกตะวันออกไม่ได้ถูกใช้เพียงแค่ฟังก์ชันเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าอันลึกซึ้งหลายมิติที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อทางศาสนา การวางผังตามทิศมงคล และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับทิศแดด ลม ฝน ตามธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จาก คติความเชื่อพื้นบ้านเรื่องทิศกับ 'ประตูผี' ในประเทศญี่ปุ่น ประตูเมืองในอดีตกับราชประเพณีโบราณในประเทศไทย และหลักฮวงจุ้ยในประเทศจีน รายละเอียดดังนี้

ความหมายของประตู-หน้าต่างในซีกโลกตะวันออก

1. ประตู เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสเปซอย่างมีสติ

การก้าวเข้า-ออกประตู จากข้างนอกสู่ข้างใน หรือจากข้างในสู่ข้างนอก เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตด้วยสติ กุศโลบายนี้แฝงอยู่ในการออกแบบดีเทลธรณีประตู ดังจะเห็นได้จาก การห้ามเหยียบธรณีประตูวิหารวัดในประเทศไทยและวัดในประเทศญี่ปุ่น เพื่อต้องการให้เจริญสติขณะก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสเปซจากภายนอกสู่ภายในนั่นเอง

ก้าวข้ามธรณีประตูวิหารวัด

2. ประตู-หน้าต่าง เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อเรื่องทิศมงคล

  • ประตูเมือง ประตูเมืองในอดีตถูกกำหนดความหมายของประตูในแต่ละทิศแตกต่างกัน เช่น ทิศเหนือเป็นหัวของเมือง เป็นเดชเมือง จึงถูกกำหนดเป็นประตูทางเข้าของพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี ทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นประตูผี จึงถูกกำหนดเป็นประตูทางออกของศพ เป็นต้น

ประตูเมืองในอดีต

  • ประตู-หน้าต่างกับหลักฮวงจุ้ย

หลักฮวงจุ้ย (Feng Shui) เป็นศิลปะแห่งการวางตำแหน่งให้ถูกต้องตามทิศทางของแสงอาทิตย์และลม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและนำพาโชคลาภเข้าสู่ตัวสถาปัตยกรรมตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ

Feng 風 หมายถึง ลม

Shui 水 หมายถึง น้ำ

หลักฮวงจุ้ย (Feng Shui) เป็นศิลปะแห่งการวางตำแหน่งให้ถูกต้องตามทิศทางของแสงอาทิตย์และลม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและนำพาโชคลาภเข้าสู่ตัวสถาปัตยกรรมตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ

 

ตำแหน่งของประตู-หน้าต่างภายในบ้าน

ตำแหน่งของประตู-หน้าต่างภายในบ้านเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์ฮวงจุ้ยว่าดีหรือไม่ ตามตำราฮวงจุ้ยโบราณกล่าวว่า ทิศใต้ดีที่สุด เพราะเป็นทิศทางลมที่ดีและเป็นทิศของทรัพย์และโชคลาภ รองลงมาคือทิศตะวันออก เพราะเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น แสงอาทิตย์ส่องยามเช้าและเป็นทิศของมังกร ทิศเหนือไม่ดี เพราะเป็นทิศอับลม ในฤดูหนาวจะนำลมแห้งแล้งเข้าสู่ตัวบ้านทำให้เสี่ยงต่อโรคภัย ทิศตะวันตกไม่ดี เพราะแสงอาทิตย์ส่องยามบ่ายทำให้บ้านร้อน

 

ประเภทของหน้าต่างที่ดี

ต้องเป็นหน้าต่างบานเปิดขนาดใหญ่ เนื่องจากเปิดได้กว้างไม่มีสิ่งใดขวางกั้นโชคลาภ หน้าต่างต้องไม่ติดตั้งตรงกับประตู และควรมีหน้าต่างบนผนัง 2 ด้านเท่านั้น เพื่อไม่ให้โชคลาภเงินทองรั่วไหลออกจากบ้าน 

Feng Shui Bagua map (Energy map)

จากความหมายของประตู-หน้าต่างเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าความหมายของทิศในประตูเมืองโบราณ และทิศในการวางตำแหน่งประตู-หน้าต่างตามหลักฮวงจุ้ย ไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

ทั้งหมดนี้ จึงสรุปได้ว่า  

วิวัฒนาการของประตู-หน้าต่างตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงปีค.ศ. 1981 เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตวัสดุให้ทนทานต่อสภาพอากาศและการใช้งาน แต่ในขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งคติความเชื่อที่ถูกหยั่งรากลึกในมโนทัศน์ของแต่ละสังคม ซึ่งยังคงเกี่ยวโยงกับการอยู่อาศัยกับธรรมชาติ 

ประตู-หน้าต่างต่อจากปีค.ศ.1981 นั้นจะเป็นอย่างไร

เชิญติดตามได้ที่ สรุปวิวัฒนาการของประตู-หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม ช่วงเกือบ 40 ปี (ค.ศ.1981 - ปัจจุบัน)

 

 

 

anattā

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

anattā

writer

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ