"Chant’s Cafe" ร้านกาแฟที่แปลงโฉมจากตึกแถวเก่า เปี่ยมด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่จางหายไปตามกาลเวลา

สวัสดีครับ มาพบกับ WAZZADU REVIEW กันอีกครั้ง วันนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสบรรยากาศสุดชิล และชมสถาปัตยกรรมแบบชิคๆของร้านกาแฟที่เกิดจากการแปลงโฉมตึกแถวเก่าให้กลายมาเป็นร้านกาแฟที่มากด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งเค้าว่ากันว่ามีเสน่ห์แตกต่างไม่เหมือนใคร เพราะไม่มีสไตล์ที่ตายตัว แต่หากตกแต่งตามตัวตนของลูกค้าเป็นหลัก ที่เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใด ความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์นี้ก็จะคงอยู่ต่อไป ร้านที่ว่านี้จะเป็นร้านอะไร และจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้นตามผมมาชมกันเลยครับ

PROJECT ARCHITECTURE

ชื่อโปรเจค      : Chant’s Cafe

ตำแหน่งที่ตั้ง   : สุขุมวิท 58

ผู้ออกแบบ       : คุณบดินทร์ พลางกูร Context Studio 

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นแนะนำให้รู้จักกับ Context Studio  ซึ่งเป็นสตูดิโอสถาปนิกผู้คิด และออกแบบ Chant’s Cafe กันก่อนครับ สตูดิโอสถาปนิกแห่งนี้ก่อตั้งมาได้ 3-4 ปีแล้ว นำทีมโดยสถาปนิกหนุ่มไฟแรง คุณ บดินทร์ พลางกูร ซึ่งทุกโปรเจคที่ Context Studio ได้ออกแบบ มักจะใช้บริบท ตัวตน และอัตลักษณ์ ของคนหรือสถานที่นั้นๆมาตั้งต้นเป็นแนวคิด แล้วนำมาตีโจทย์เป็นงานออกแบบ นับเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแปลกใหม่ น่าสนใจในยุคนี้ ดังนั้นชื่อ context จึงมาจากคำว่า บริบทนั่นเอง

เมื่อรู้จักกับผู้ออกแบบไปแล้ว คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของร้าน Chant’s Cafe (ร้านคุณชั้น) กันบ้างครับ โดยแต่เดิมเริ่มแรก เจ้าของร้านได้มีร้านอาหารชื่อร้านลูกอินก่อนแล้ว โดยจะเน้นขายอาหารไทยเป็นหลัก ชื่อลูกอินคือชื่อของคุณยาย จากนั้นจึงมีความคิดต้องการที่จะทำคาเฟ่สำหรับคนในละแวกพื้นที่บ้าง จึงได้เกิดเป็นร้าน Chant’s Cafe (ร้านคุณชั้น)ขึ้นมา โดยชื่อร้านก็มาจากชื่อของคุณตานั่นเองครับ

Concept แนวคิดในการออกแบบร้าน Chant’s Cafe นั้นน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากผู้ออกแบบไม่ต้องการออกแบบตามเทรนด์ที่สักวันก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่จะเน้นสร้างสถาปัตยกรรมจากบริบท ตัวตน และอัตลักษณ์ ของคนหรือสถานที่นั้นๆเป็นหลัก เมื่อเวลาผ่านไปความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์นี้ก็จะคงอยู่ต่อไป ดังนั้นภาพรวมของ Chant’s Cafe จึงไร้ซึ่งสไตล์ที่ตายตัว แต่กลับโดดเด่นด้วยเรื่องราวความเป็นไทยที่ถ่ายทอดจากตัวบุคคล ผสมผสานกับบริบทของตัวอาคารที่เป็นผนังอิฐยุคเก่า

การเลือกใช้วัสดุตกแต่งของร้าน Chant’s Cafe นั้นน่าสนใจไม่แพ้ Concept เลยก็ว่าได้ เนื่องจากว่าการออกแบบมีการผสมผสานความเป็นไทยลงไปในพื้นที่ วัสดุที่ถูกเลือกมาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารจึงเป็นทองเหลือง อิฐ และไม้เป็นหลัก โดยรายละเอียดเฉพาะตัวของวัสดุบางอย่างที่ไม่สามารถหาซื้อได้ มีการทำขึ้นมาเป็นพิเศษเฉพาะการตกแต่งร้าน Chant’s Cafe แห่งนี้เท่านั้น และได้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านไปในที่สุด เช่นตัวตุ้มหล่อ ซึ่งทำขึ้นมาเป็นชุดเชื่อมกับตัวรอกที่ซื้อมาเพื่อใช้แขวนต้นไม้ในส่วนของชั้นลอย โดยวัสดุที่โดดเด่นที่สุดในร้านก็คือ ไม้ลายน้ำ ที่ใช้ทำเคาท์เตอร์บาร์ ซึ่งมีรายละเอียดความเป็นไทยอยู่ในตัวของลายไม้ นอกจากนี้ยังมีตะแกรงเหล็กที่สั่งทำลายเฉพาะให้เข้ากับเอกลักษณ์ของร้าน (อยู่ในส่วนของบันได)

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเคาท์เตอร์บาร์ให้มีลูกเล่นที่เก๋ไก๋แปลกตา ด้วยการยืดตัวเคาท์เตอร์บาร์เยื้องออกไปด้านนอก อันเนื่องมาจากไซต์ มีการร่นระยะเข้ามาด้านใน จึงมีการดันตัวเคาท์เตอร์บาร์ออกไปด้านนอกให้คนมองเห็น และสามารถสั่งซื้อเครื่องดื่มกลับบ้านที่ด้านนอกได้ในบริเวณหน้าร้าน นอกจากนี้ยังใช้ตะขอทองเหลืองติดไว้ใต้เคาท์เตอร์บาร์ เพื่อเป็นฟังก์ชั่นแขวนกระเป๋าสำหรับคุณผู้หญิงได้แบบเก๋ๆอีกด้วย

การเลือกเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวของตัวคาเฟ่ และเพิ่มลูกเล่นการใช้งานเข้าไป เช่น มีตู้โทรศัพท์ติดผนังอยู่ ลูกค้าสามารถใช้งานได้จริง นอกจากนี้ตัวโต๊ะยังทำจากไม้ฝาบ้าน(บ้านไทยในต่างจังหวัด) เช่นเดียวกับผนังห้องด้านนอกที่ใช้ไม้ฝาบ้านเรียงตัวกันกั้นเป็นผนังระหว่างพื้นที่ด้านนอก และห้องน้ำ

มาชมชั้นสองของ Chant’s Cafe กันบ้างครับ จะเห็นว่าม้านั่งยาวได้นำรายละเอียดของวัสดุมาจากศาลาไทยในต่างจังหวัด ที่ใช้นั่งรอรถในสมัยก่อน  ซึ่งให้กลิ่นอายของความเป็นไทยย้อนยุคได้เต็มเปี่ยมมีเสน่ห์ และจุดที่ทำยากที่สุดจุดหนึ่งของร้าน ซึ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ  ต้นไม้ที่แขวนโชว์ จากชั้นลอยเหนือบริเวณเคาท์เตอร์บาร์ โดยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเนื่องจากต้องใช้เทคนิคในการทำค่อนข้างมาก เพราะต้นไม้ที่แขวนอยู่สามารถชักรอกขึ้น-ลง ได้นั่นเอง เห็นแบบนี้รายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควรเลยครับ

นอกจากเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแล้ว คุณบดินทร์ ยังได้ลงมือทำในส่วนของผนังร้านเองร่วมกันกับทุกคนในร้านด้วย โดยการพ่นสี และทำลายแผนที่ ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นจุดหนึ่งภายในร้าน Chant’s Cafe ซึ่งคุณบดินทร์ยังบอกอีกว่า งานทุกชิ้นทุกอย่างต้องการให้เจ้าของมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่การเลือกเฟอร์นิเจอร์หรือตกแต่งก็ตาม เพราะทั้งหมดนี้จะทำให้เจ้าของรู้สึกรักงานของเค้าไปด้วย ซึ่งนั่นช่วยสะท้อนตัวตนของลูกค้า และบริบทที่ลูกค้าคุ้นเคยผ่านการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมได้อย่างมีคุณค่า ที่เเม้เวลาผ่านไปนานเท่าใด ความเป็นตัวตน หรือเอกลักษณ์นี้ก็จะคงอยู่ต่อไปนั่นเองครับ

และถ้าหากใครที่สนใจ หรือ ชื่นชอบผลงานการออกแบบของคุณบดินทร์ และอยากจะทำความรู้จัก รู้ลึกกับแนวคิดของสถาปนิกหนุ่มรายนี้มากขึ้น เตรียมพบ คุณบดินทร์ พลางกูร แห่ง Context Studio ได้ที่งาน WAZZADU TALK งาน Talk ของคนสร้างสรรค์แห่งยุค ที่จะเปิดมุมมองการสร้างสรรค์งานออกแบบครั้งยิ่งใหญ่ ผ่าน “นักออกแบบต่างยุค ที่ไม่หลุดสมัย" ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้

ในครั้งต่อไป WAZZADU REVIEW จะพาทุกท่านไปชมงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจที่ไหนบ้างนั้น อย่าพลาดรอติดตามชมกันนะครับ

 

#WAZZADU #Chant'sCafe #ContextStudio #บดินทร์พลางกูร

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ