รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ คุณสมบัติและข้อดี-ข้อเสีย ของกระจก 15 ประเภท ที่ใช้ทำประตูกระจกหน้าบ้าน

Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)

Category: Glass Door (ประตูกระจก)

Summary Product Data​: ข้อมูลที่น่าสนใจของกระจกที่นำมาใช้ทำประตู

กระจกนั้นมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านรูปลักษณ์ คุณสมบัติ และการใช้งาน  โดยในบทความนี้เราได้คัดมาเฉพาะกระจกที่นิยมนำมาทำเป็นประตูหน้าบ้านหรือประตูทางเข้าอาคาร ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น Wazzadu ย่อยมาให้แล้วไปชมกันเลยครับ

1. กระจกโฟลตใส (Clear Annealed Glass/ Clear Floated Glass)​​ 

กระจกโฟลต คือกระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท มีความแข็งแรงพอสมควร กระจกโฟลตในท้องตลาด ที่นิยมนำไปใช้งานจะมีขนาดความหนาตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 19 มม.ในกรณีที่ต้องการทำกระจกสีตัดแสง จะมีการผสมโลหะออกไซด์เข้าไปในส่วนผสม (Batch Mix) ในขั้นตอนการผลิตกระจก เพื่อให้เกิดสีสัน และคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมากระทบผิวกระจก และช่วยลดปริมาณแสงที่ผ่านกระจก จึงทำให้ได้แสงที่นุ่มนวล และเกิดความสบายตาในการมอง ซึ่งปริมาณแสงที่จะทะลุผ่านกระจกสีนั้นจะขึ้นอยู่กับความเข้มของสี ความหนา และสีของกระจก 

การกระจกโฟลตใสมาเป็นส่วนประกอบของประตูหน้าบ้านนั้น จะช่วยให้แสงสว่างสามารถผ่านได้เต็มที่ แต่ความร้อนก็ผ่านได้เต็มที่เช่นกัน โดยค่าส่งผ่านความร้อนสูงถึง 81% เลยทีเดียว แต่ข้อดีคือช่วยในเรื่องของการมองเห็น สิ่งที่มองผ่านกระจกนั้นจะเห็นเป็นสีจริงไม่ผิดเพี้ยน หากต้องการกันความร้อนสามารถติดตั้งม่านได้

Advatage: ข้อดี

  • โปร่งใส ให้แสงส่องผ่านได้สูง
  • สามารถนำไปเคลือบโลหะเป็นกระจกสะท้อนแสง และกระจกประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
  • ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
  • สามารถนำไปแปรรูปในการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระจกเทมเปอร์, กระจกลามิเนต, กระจกฉนวนความร้อน, กระจกเคลือบสี, กระจกเงา, กระจกดัดโค้ง, กระจกพ่นทราย, กระจกแกะสลัก, กระจกพิมพ์ลาย และอื่นๆ เป็นต้น

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
  • ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
  • มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้

2. กระจกโฟลตสีเขียว (Green Floated Glass)​​ 

กระจกโฟลตสีเขียว เป็นกระจกตัดแสงประเภทหนึ่งที่ให้แสงสว่างส่องผ่านได้มากถึง 75% รองจากกระจกโฟลตใส และให้ความร้อนผ่านได้แค่ 49% เท่านั้น ด้วยคุณสมบัตินี้กระจกโฟลตสีเขียวจึงเป็นที่นิยมใช้มากกที่สุด ซึ่งช่วยให้ได้ทั้งความเย็น และความสว่างปลอดโปร่งไปพร้อมกันเหมาะกับการใช้งานในอาคารพักอาศัยโดยทั่วไป เมื่อนำไปใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้านจะช่วยกรองแสงได้ดี ลดปริมาณความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคารได้

Advatage: ข้อดี

  • โปร่งใส ให้แสงส่องผ่านได้สูง รองจากกระจกโฟลตใส
  • เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
  • ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
  • มีหลากหลายความเข้มของสีให้เลือกใช้
  • นำไปแปรรูปเป็นกระจกลามิเนตได้

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
  • ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
  • มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
  • ทัศนวิสัยที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีสีเขียวเจืออยู่

3. กระจกโฟลตสีฟ้า (Blue Floated Glass)​​ 

กระจกโฟลตสีฟ้าเป็นกระจกตัดแสงที่ดีขึ้นมามากว่ากระจกสีเขียว โดยความร้อนจะผ่านได้เพียง 43% และเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างพอเหมาะที่ 58% ทั้งนี้ราคาจะสูงกว่ากระจกสีเขียว ซึ่งความเข้มและเฉดของสีนั้นก็มีให้เลือกหลากหลายขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละราย นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบของประตูกระจกอาคารโมเดิร์น มากกว่าประตูกระจกหน้าบ้าน

Advatage: ข้อดี

  • เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
  • ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
  • มีหลากหลายความเข้มของสีให้เลือกใช้
  • นำไปแปรรูปเป็นกระจกลามิเนตได้

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
  • ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
  • มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
  • ทัศนวิสัยที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีสีฟ้าเจืออยู่
  • ราคาสูงกว่ากระจกโฟลตใส และโฟลตเขียว

4. กระจกโฟลตสีชา (Bronze Floated Glass)​​ 

กระจกโฟลตสีชาเป็นสีที่ความร้อนผ่านได้น้อยมากสุดนั่นประมาณ 34% แต่มีข้อเสียคือแสงสว่างผ่านได้น้อยมากเช่นกัน ประมาณ 22% จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่แสงแดดส่องจัดมาก จึงควรมีการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างเสริม ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศโดยรวมดูดีขึ้นมาได้

นิยมใช้เป็นส่วนประกอบของประตูกระจกหน้าบ้าน โดยกรอบบานที่ใช้มักเป็นไม้หรืออลูมิเนียม ซึ่งเน้นประโยชน์ของการกรองแสงเป็นหลัก

Advatage: ข้อดี

  • ช่วยกรองแสงและความร้อนได้มาก
  • เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
  • ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
  • มีหลากหลายความเข้มของสีให้เลือกใช้

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
  • มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
  • ทัศนวิสัยที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีชาค่อนข้างเข้มหากใช้กับประตูกระจกหน้าบ้านบานใหญ่ๆ ผู้อยู่อาศัยอาจรู้สึกอึดอัดได้ 
  • ไม่เหมาะกับการใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้านที่เป็นร้านค้า 

5. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) 

กระจกเทมเปอร์ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety) โดยขนาดความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร

นิยมใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน โดยเฉพาะประตูกระจกบานเปลือยซึ่งมีบานฟิกซ์ด้านข้างเป็นกระจกเทมเปอร์เช่นกัน ส่วนใหญ่ใช้กับอาคารพาณิชย์ที่เปิดเป็นร้านค้าด้านล่าง และใช้ควบคู่กับประตูเหล็กบานม้วนเพื่อความปลอดภัย 

Advatage: ข้อดี

  • มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 4-5 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด และแรงบีบได้ดี
  • ทนความร้อนได้สูงถึง 290ºC โดยกระจกไม่แตก
  • ทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 150ºC
  • เมื่อกระจกแตก จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ คล้ายเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น จะไม่แตกเป็นปากฉลามแบบเดียวกับการแตกของกระจกธรรมดา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
  • ถ้าหากตัดกระจกบนโต๊ะตัดที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ความเที่ยงตรงสูง จะสามารถตัดได้หลากหลายรูปแบบ 

Disadvantage: ข้อเสีย

  • กระจกเทมเปอร์จะไม่สามารถ ตัด เจาะ เจียร บาก ในภายหลังได้ ต้องกำหนดขนาดของแผ่น รวมทั้งระบุตำแหน่งและขนาดที่ต้องการเจาะให้ครบถ้วนก่อนนำไปอบ ดังนั้นการวัดพื้นที่ติดตั้งงานจำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ
  • เนื่องด้วยกระจกนิรภัยเทมเปอร์ เป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนทำให้กระจกนิ่มและกลิ้งไปกับลูกกลิ้ง จึงทำให้กระจกมีโอกาสเกิดเป็นคลื่น และมีความโก่งตัวเล็กน้อย
  • กระจกนิรภัยเทมเปอร์มีโอกาสปริแตกด้วยตัวเอง หากเนื้อกระจกที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิต มีสารปนเปื้อน คือ สารนิเกิ้ลซัลไฟล์ (NiS) ในกระบวนการผลิตกระจก โดยจะมีอัตราการแตกด้วยตัวเองเฉลี่ย 8 แผ่นใน 1,000 แผ่น 

6. กระจกลามิเนต (Laminated Glass)​ 

กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) หรือกระจกโฟลต (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือมากกว่า นำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก ซึ่งสามารถเลือกสีของฟิล์มได้ ส่วนใหญ่ใช้ฟิล์ม PVB

เหมาะสำหรับบ้านโมเดิร์นที่ประตูกระตกหน้าบ้าน หรือประตูกระจกภายในตัวบ้านเป็นอะลูมิเนียมบานใหญ่ เพื่อช่วยในการกรองแสง และเหมาะที่จะใช้เป็นส่วนประกอบของประตูกระจกหน้าบ้านที่ต้องการกันเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงดังจากการจราจร 

Advatage: ข้อดี

  • เมื่อกระจกได้รับความเสียหายจนเกิดการแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ซึ่งช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น 
  • ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
  • ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %
  • ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
  • สามารถเปลี่ยนสีได้โดยใช้สีของฟิล์ม

Disadvantage: ข้อเสีย

  • เมื่อเทียบความหนาในขนาดเดียวกัน กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา เช่น กระจกลามิเนต 4 มม. + ฟิล์ม + 4 มม. จะรับแรงกระแทกได้น้อยกว่า กระจกใสธรรมดาที่หนา 8 มม.
  • ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น จึงทำให้ถ้าใช้กระจกนี้บริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี และอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้
  • เมื่อใช้งานไปนานๆ จะเกิดการแยกตัวของกระจกลามิเนต โดยมีศัพท์ที่เรียกว่า Delamination ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณขอบกระจก, บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะค่อยๆเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปแล้วสักระยะ(ตั้งแต่ 1 หรือ 2 ปีขึ้นไป) ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุหลัก เช่น ตัวฟิล์มที่เสื่อมสภาพหรือมีการดูดซับความชื้นเข้าไป หรือเกิดจากการใช้งานเช่นการติดตั้งกับฟิตติ้งที่มุมกระจกที่มีแรงบิดมากระทำจึงทำให้เกิดการแยกตัวของกระจกและชั้นฟิล์ม

7. กระจกฝ้าพ่นทราย (Frosted Glass)

กระจกพ่นทรายคือกระจกที่ผ่านกรรมวิธีการทำลวดลาย โดยวิธีพ่นทราย ซึ่งทำให้เกิดลวดลายบนกระจกได้โดยทรายที่ใช้คืออะลูมินัมออกไซด์ (Aluminum Oxide) มีลักษณะเป็นผงละเอียด แต่ละเม็ดจะมีความแข็งและมีความคมสูง เมื่อถูกพ่นลงบนผิวแก้วด้วยความเร็วสูงจะสามารถกัดกร่อนผิวแก้วให้เกิดเป็นรอยฝ้าลึกลงไปเนื้อแก้ว ทรายที่ใช้นอกจากจะใช้อะลูมินัมออกไซด์แล้ว ยังสามารถใช้ทรายจากธรรมชาติได้โดยการร่อนเอาเฉพาะทรายที่ละเอียดมาก และต้องใช้เครื่องพ่นทรายที่มีแรงพ่นสูงมากขึ้น เพราะทรายจากธรรมชาติจะมีความแข็งและความคมน้อยกว่าอะลูมินัมออกไซด์

เหมาะสำหรับใช้ทำประตูกระจกที่ต้องการกั้นพื้นที่และเน้นความเป็นส่วนตัวเนื่องจากผิวพ่นทรายทำให้ไม่สามารถมองผ่านกระจกไปอีกด้านได้ แต่ยังสามารถเห็นเป็นเงาลางๆ เพื่อให้เห็นว่าอีกด้านยังมีผู้ใช้งานอยู่ เหมาะสำหรับเป็นประตูกระจกหน้าบ้าน หรือประตูกระจกสำหรับห้างร้าน ที่ต้องการเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากกระจกพ่นทรายสามารถทำลวดลายหรือเป็นโลโก้ตามที่ต้องการได้

 

Advatage: ข้อดี

  • สามารถสลักลวดลายลงบนผิวกระจกอย่างถาวร ตามแบบ ตามดีไซน์ได้
  • ช่วยบังสายตาโดยใช้ลวดลาย ซึ่งสามารถออกแบบให้มีทั้งส่วนทึบสลับกับส่วนโปร่งใสได้

Disadvantage: ข้อเสีย

  • เมื่อใช้ไปวักพักจะเกิดรอยคราบนิ้วมือ และคราบสกปรกที่ผิวกระจกได้ แต่ปัจจุบันก็มีน้ำยาเคลือบผิวเพื่อป้องกันในส่วนของผิวกระจกที่หยาบๆ เกิดความลื่น เกิดคราบสกปรกต่างๆ ได้ยากขึ้น แต่น้ำยาเหล่าเมื่อใช้งานไปซักพักคุณภาพจะค่อยๆลงไป
  • หากใช้น้ำยาเคลือบกระจกร่วมด้วยจะทำให้ราคาสูงขึ้น

8. กระจกฝ้าซาติน (Satin/Acid-etched Glass)

กระจกฝ้าซาตินหรือกระจกกัดกรด คือกระจกที่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้กระจกนั้นหมดความใส โดยใช้กรดชนิดรุนแรงกัดบนผิวกระจกบางๆ ซึ่งกรดนี้จะทำปฏิกริยากัดผิวกระจก ทำให้เนื้อกระจกถูกกัดจนกลายจากใสเป็นฝ้า ผิวกระจกที่ได้จะไม่เป็นขุยและเรียบเนียนกว่ากระจกฝ้าที่เกิดจากขบวนการพ่นทราย วัตถุประสงค์คือช่วยลดการมองผ่านทะลุแต่ไม่มืดในทีเดียว กล่าวคือแสงยังสามารถผ่านกระจกเข้ามาเพื่อทำให้พื้นที่ภายในสว่างขึ้นแต่ไม่สามารถมองเห็นภาพข้างหลังกระจก ได้ชัดเจน สิ่งที่เห็นมีเพียงเงาลางๆ เท่านั้น

เหมาะสำหรับใช้ทำประตูกระจกที่ต้องการกั้นพื้นที่และเน้นความเป็นส่วนตัวเนื่องจากผิวพ่นทรายทำให้ไม่สามารถมองผ่านกระจกไปอีกด้านได้ แต่ยังสามารถเห็นเป็นเงาลางๆ เพื่อให้เห็นว่าอีกด้านยังมีผู้ใช้งานอยู่ สามารถใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน หรือกั้นห้องภายในบ้านก็ได้ 

Advatage: ข้อดี

  • ช่วยบังสายตาได้โดยที่มีแสงบางส่วนลอดเข้ามาได้
  • ไม่เกิดคราบยึดติดหรือฝังในผิวได้ง่าย ไม่ทิ้งคราบรอยนิ้วมือเมื่อสัมผัสผิวกระจก สามารถทำความสะอาดเช็ดถูคราบต่างๆ ออกได้อย่างง่ายดาย

Disadvantage: ข้อเสีย

  • กระจกซาตินราคาสูงกว่ากระจกพ่นทรายประมาณ 20-35% 
  • ปิดกั้นทัศนวิสัยในการมองเห็น ในขณะที่ยังส่งผ่านความร้อนได้อยู่

9. กระจกลวด (Wired Glass)

ช่วยต้านทานการแตกหลุดร่วงของแผ่นกระจก และช่วยในการชะลอลุกลามของเปลวไฟและควันไฟนอกจากนี้เส้นลวดที่ฝังอยู่ในเนื้อกระจกทำให้สามารถป้องกันขโมย ปกติจะใช้กับประตูหนีไฟเนื่องจากกระจกเสริมลวดสามารถเป็นผนังที่ต้านทานความร้อนได้สูงถึงเกือบ 1000 องศาเซลเซียสในระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง เส้นลวดที่ฝังอยู่ใน กระจก ดังกล่าวยังช่วยยึด กระจก ไม่ให้แตกขณะเกิดอัคคีภัย เมื่อ กระจก ไม่แตก เปลวไฟและควันไฟจะไม่สามารถผ่าน กระจก เข้ามาทำอันตรายผู้คนในห้องถัดไปได้แต่ปัจจุบันนำมาใช้การตกแต่งแนว Industry โดยกระจกที่นำมาทำกระจกลวดนั้นมีทั้งแบบใส และแบบมีลวดลาย

นิยมใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน ร้านค้า หรือโรงแรม โดยใช้คู่กับบานกรอบที่เป็นไม้หรือเหล็ก นอกจากสวยงามแล้วยังช่วยในเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย
 

Advatage: ข้อดี

  • ป้องกันขโมยได้เนื่องจากมีความทนทานแข็งแรง
  • ป้องกันการลุกลามของไฟและควันไฟได้
  • มิติมุมมองที่ชวนหลงไหลผสานเข้ากับสไตล์วินเทจ
  • สามารถเลือกกระจกใส หรือกระจกขุ่นก็ได้

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ราคาสูง
  • ต้องกำหนดขนาดตั้งแต่ตอนสั่งซื้อ

10. สเตนกลาส รางตะกั่ว (Leaded Stained glass)

Stained glass คือการนำกระจกสีหรือกระจกเทกซ์เจอร์ ที่มีความประณีตสวยงามนำมาเรียงต่อกันกับรางโลหะที่ทำช่องสำหรับเสียบกระจกไว้ทั้งสองข้าง วิธีการทำคือค่อยๆ เชื่อมรางและชิ้นกระจกที่ถูกตัดตามลวดลายที่ออกแบบไว้ไปพร้อมๆกัน โดยตัวรางจะทำหน้าที่เป็นตัวยึดให้กระจกอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ และเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างภายใน นิยมใช้ตกแต่งในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประตูและหน้าต่าง ช่วยทำให้อาคารบ้านเรือนมีความโดดเด่น สวยงาม สะดุดตา นอกจากใช้ทำประตูแล้วสามารถนำไปใช้ได้กับส่วนต่างๆ เช่น ฝ้าเพดาน ฉากกั้นห้อง โดม เป็นต้น อีกทั้งตัวกระจกยังมี ความแข็งแรง ทนทาน ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยยังช่วยให้ประหยัดพลังงานอีกด้วย

กระจกสเตนกลาสเดิมทีนั้นใช้กับอาคารประเภทศาสนา ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้งานกับอาคารประเภทรีสอร์ท และบ้านเรือนมากขึ้น สะท้อนความงามจากยุคเรเนซองซ์  

Advatage: ข้อดี

  • สวยงาม หรูหรา โดดเด่น และแสดงถึงความมีสไตล์

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ราคาสูง เนื่องจากเป็นงานฝีมือ 
  • ซ่อมแซมได้ยาก หากเกิดการเสียหายต้องเปลี่ยนใหม่

11. สเตนกลาส รางเงิน (Silver Stained glass)

เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความหรูหราแต่ทันสมัยแบบเรียบๆ เหมาะกับบ้าน ที่ต้องการความสวยงาม ทันสมัย และการออกแบบที่โดดเด่นสะดุดตา มักใช้กับบ้านพักอาศัยสไตล์โมเดิร์นคลาสสิค 

กระจกสเตนกลาส โดยเฉพาะกระจกสเตนกลาสรางเงิน นับว่าเป็นกระจกที่นิยมนำมาทำเป็นประตูกระจกหน้าบ้านมากที่สุดเนื่องจากความละเมียดละไมของลวดลาย เหมาะกับงานตกแต่งอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่ต้องการความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความคลาสสิคและความโมเดิร์น 

 

Advatage: ข้อดี

  • สวยงาม หรูหรา โดดเด่น และแสดงถึงความมีสไตล์ 
  • แข็งแรงทนทาน เนื่องจากรางเหล็กช่วยเป็นเหมือนประตูเหล็กดัดไปในตัว

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ราคาสูง เนื่องจากเป็นงานฝีมือ 
  • ซ่อมแซมได้ยาก หากเกิดการเสียหายต้องเปลี่ยนใหม่

12. สเตนกลาส รางทองเหลือง (Brass Stained glass)

ด้วยความโดดเด่นของทองเหลือง จึงให้ความรู้สึกหรูหรา มีระดับมากกว่ารางชนิดอื่นๆ เหมาะสำหรับการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ละเอียดอ่อนได้ดี และให้อารมณ์ความรู้สึกแบบศิลปะทรงคุณค่า สามารถกำหนดลูกเล่นได้หลากหลายรูปแบบ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานเหมาะกับงานที่ต้องการความเป็นศิลปะแบบคลาสสิค

กระจกสเตนกลาสรางทองเหลืองเหมาะสำหรับนำมาทำเป็นประตูกระจกหน้าบ้านที่เน้นสไตล์หรูหรา ลักชูรี่ มากที่สุดเนื่องจากสีของวัสดุทองเหลืองที่สะท้อนถึงความคลาสสิค โดยมักใช้กับกระจกเจียรปลี (กระจกที่มีการปาดขอบเพื่อเพิ่มมิติการสะท้อนแสง) วัสดุที่นำมาใช้เป็นอุปกรณ์มือจับ ตัวล็อคบานหรือ ฟิตติ้ง ควรเป็นทองเหลืองด้วยเช่นกันเพื่อความกลมกลืน

 

Advatage: ข้อดี

  • สวยงาม หรูหรา โดดเด่น และแสดงถึงความมีสไตล์ 
  • แข็งแรงทนทาน เนื่องจากรางทองเหลืองช่วยเป็นเหมือนประตูเหล็กดัดไปในตัว

Disadvantage: ข้อเสีย

  • ราคาแพงที่สุดในบรรดากระจกสเตนกลาส เนื่องจากรางเป็นวัสดุทองเหลืองและการผลิตนั้นเป็นงานฝีมือ 
  • ซ่อมแซมได้ยาก หากเกิดการเสียหายต้องเปลี่ยนใหม่

13. กระจกลวดลาย (Figured Glass/Patterned Glass)

เป็นกระจกที่มีลวดลายพิมพ์ลึกลงบนแผ่นกระจก ที่ให้คุณสมบัติกึ่งทึบกึ่งใส จะสามารถมองผ่านได้เพียงสลัวๆ เท่านั้น กระจกแพทเทิร์นหรือกระจกลวดลายผลิตโดยการนำกระจกที่ยังไม่แข็งตัวเข้าไปสู่แถวของลูกกลิ้ง เพื่อให้ได้ความหนาที่ต้องการ และพิมพ์ด้วยลวดลายที่ติดอยู่กับลูกกลิ้งลงบนผิวด้านใดด้านหนึ่งของกระจกหรือทั้งสองด้านก็ได้ ลวดลายมีให้เลือกหลากหลาย โดยจะทำให้มีคุณสมบัติที่โปร่งแสงแต่ไม่โปร่งใส จึงทำให้เกิดภาพที่ดูนุ่มนวลสายตา แต่ไม่สามารถมองผ่านได้ชัดเจนเหมือนกับกระจกใสธรรมดาทั่วไป เหมาะกับงานการนำมาใช้สำหรับกั้นพื้นที่ในบริเวณเดียวกันออกจากกันแต่ยังคงให้ความรู้สึกที่ต่อเนื่องอยู่

นิยมนำมาใช้ทำประตูกระจกหน้าบ้านเนื่องจากตัวกระจกนั้นแสงสามารถส่องผ่านได้ แต่มีลวดลายที่ช่วยปิดกั้นการมองเห็นช่วยให้มีความเป็นส่วนตัว

 

Advatage: ข้อดี

  • มีหลากหลายลวดลายให้เลือกใช้
  • มีทั้งแบบใสและแบบฝ้า
  • เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Disadvantage: ข้อเสีย

  • หากเกิดการเสียหายแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ อาจไม่มีลายเดิม ส่งผลให้ไม่เข้าคู่กับชุดกระจกที่เหลือ
  • บดบังทัศนวิสัย ไม่เหมาะสำหรับประตูกระจกร้านค้า 

14.  กระจกลายดอกพิกุล (Patterned Glass)

กระจกลายดอกพิกุลเป็นลายหนึ่งในบรรดาเป็นกระจกหลอมลวดลายที่นิยมใช้มากที่สุด โดยเฉพาะในงานแนวย้อนยุค หรืองานศาสนสถาน

นิยมใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้านโดยเน้นสไตล์ย้อนยุค หรืออาคารที่ต้องการความโดดเด่น กระจกลายดอกพิกุลมี 4 สียอดนิยมให้เลือกใช้งาน คือ สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีใส 

Advatage: ข้อดี

  • มีหลายสีให้เลือกใช้
  • มีทั้งแบบใสและแบบฝ้า
  • มีหลายความหนาให้เลือกใช้
  • เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Disadvantage: ข้อเสีย

  • กระจกบาง แตกหักง่าย 
  • ไม่สามารถนำไปทำกระจกลามิเนตได้ 

15. กระจกมู่ลี่ (Internal Blinds Glass)​​ 

กระจกมู่ลี่ คือการรวมกระจกฉนวนแบบอากาศแห้งกับม่านปรับแสงให้เป็นชิ้นเดียวกัน หรือ พูดง่ายๆก็คือ มู่ลี่ถูกประกบด้วยกระจกทั้ง 2 ด้าน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาที่พบทั่วไปในครัวเรือน ซึ่งมักจะเกิดคราบสกปรกสะสม โดยเฉพาะบ้านที่ใช้ผ้าม่าน หรือ มู่ลี่แบบปกติ ซึ่งความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะตามซี่ หรือ ช่องซอกของมูลี่แบบเดิม กลายเป็นแหล่งสะสมฝุ่น คราบสกปรก หรือ เชื้อโรคเอาไว้ได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีอายุการใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควร

การที่มีวัสดุอย่างกระจกประกบมู่ลี่เอาไว้ จึงช่วยป้องกันคราบสกปรก และฝุ่นไม่ให้เข้าไปเกาะมู่ลี่ภายในช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้หลาย Solution ทั้งการเปิดบานหน้าต่างเพื่อรับลม เปิดมู่ลี่รับแสง หรือปิดเพื่อความเป็นส่วนตัวก็ได้ หากติดตั้งบริเวณประตู หรือ หน้าต่างในห้องครัว กระจกที่ประกบมู่ลี่เอาไว้ทั้ง 2 ด้าน จะช่วยป้องกันคราบมันสกปรกจากการทำอาหารได้ โดยสามารถเช็ด หรือ ทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย

เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานให้สามารถเปิดโล่งหรือปิดทึบกันการมองเห็นได้ มู่ลี่นอกจากจะช่วยบังสายตาแล้วยังช่วยป้องกันความร้อนได้อีกด้วย ไม่เก็บฝุ่นและยังไม่เปลืองงบประมาณในการซื้อและติดตั้งผ้าม่านอีกด้วย

Advatage: ข้อดี

  • ประหยัดงบประมาณในการซื้อและติดตั้งผ้าม่าน 
  • ไม่สะสมฝุ่น และคราบสกปรก เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้
  • มีความแข็งแรงทนทาน
  • ทำความสะอาดได้ง่ายกว่ามู่ลี่ทั่วไป
  • ช่วยลดแสง UV และป้องกันความร้อน
  • ป้องกันน้ำ ไอน้ำ และป้องกันการเกิดฝ้าเกาะกระจก
  • ช่วยลดเสียงรบกวน

Disadvantage: ข้อเสีย

  • มีขนาดความหนา และน้ำหนักมากกว่ากระจกทั่วไป
  • เมื่อกลไกภายในเสียหาย จะต้องรื้อออกสถานเดียว จึงจะทำการซ่อมแซมได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกระจกส่วนหนึ่งที่นิยมยำมาใช้ประกอบเป็นประตูหน้าบ้านเท่านั้น ซึ่งประเภทของกระจกนั้นยังมีอีกหลากหลายมาก เช่น กระจกเคลือบสี (Color Coated Glass) ซึ่งนิยมใช้ในการตกแต่งพื้นที่ภายในเพราะมีลักษณะทึบแสงและมีสีสันให้เลือกหลากหลาย หรือจะเป็นกระจกที่นิยมใช้กับอาคารสูง เช่น กระจกตัดแสงยูวี (Reflective), กระจก 2 ชั้น (Insulate), กระจกสะท้อนแสง (Low-E) เนื่องจากคุณสมบัติในด้านการกันความร้อนและ การทนทานต่อแรงลมเป็นหลัก ทั้งนี้เราชาว Wazzadu จะนำมาย่อยให้อ่านกันต่อไปครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ