หลักการออกแบบ และวิธีการปูพื้นทางเดินในสวน (Garden floor design for Architecture)

การออกแบบสวนภายนอกบ้าน หรืออาคาร เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บรรยากาศรอบ ๆ อาคารเกิดความผ่อนคลาย ทำให้อาคารสวยงาม และยังทำให้พื้นที่รอบ ๆ เกิดการใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย นั่งเล่นพักผ่อน หรือปาร์ตี้สังสรรค์กับครอบครัว  และเพื่อน ทางเดินภายในสวนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้สวนสวยงามมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีวัสดุปูพื้นทางเดินในสวนมากมายให้เลือกใช้ตามความชอบ และสไตล์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น

  • พื้นไม้ (Wood Flooring)
  • พื้นกรวดล้าง (Washed Gravel Flooring)
  • พื้นทรายล้าง (Washed Sand Flooring)
  • พื้นกรวดแม่น้ำ (Pebbles)
  • พื้นหินธรรมชาติ (Natural Stone flooring) หินที่นิยมนำมาใช้ คือ หินกาบ (Brown Slate)  หินชนวน (Black Slate) หินแกรนิต (granite) หินทราย (Sandstone) และหินอ่อน (Marble) 
  • พื้นคอบเบิ้ลสโตน (Cobblestone Flooring)
  • บล็อกคอนกรีตปูพื้น (Paving Block)
  • พื้นสแตมป์คอนกรีต (Stamp Concrete)
  • แผ่นปูทางเดินปูนเปลือย (Concrete Tile)
  • กระเบื้องดินเผา (Clay Tile)
  • อิฐมอญ (Brick Flooring)

เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นทางเดินในสวนเกิดการทรุดตัวลง วิธีการปูพื้นทางเดินในสวนอย่างถูกวิธีถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน วันนี้ Wazzadu Encyclopedia ได้รวบรวมข้อมูลหลักการออกแบบ และวิธีปูพื้นทางเดินในสวน โดยจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ติดตามชมได้เลยครับ

หลักการออกแบบ และวิธีการปูพื้นทางเดินในสวน

การออกแบบทางเดินภายในสวน มีขั้นตอนดังนี้ คือ

  1. กำหนดทางเดินภายในสวน ทางเดินควรอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมการใช้งานจากในบ้านสู่นอกบ้าน หรือนอกบ้านสู่ในบ้าน หรือจะเป็นพื้นที่รอบๆ สำหรับเดินวนทั่วโดยรอบอาคาร ควรเลือกวางแผ่นทางเดินขนาด 50-60 เซนติเมตรสำหรับเดินคนเดียว 80-100 เซนติเมตรในกรณีที่เดิน 2 คน และวางในระยะห่าง 30-50 เซนติเมตรโดยวัดจากศูนย์กลางของแผ่นทางเดิน 
  2. การเลือกแผ่นทางเดิน นิยมกันในท้องตลาดนั้นแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน คือแผ่นทางเดินจากธรรมชาติและแผ่นทางเดินซีเมนต์ ดีไซน์หลากหลายให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน 
           - แผ่นทางเดินจากธรรมชาติ เช่น แผ่นศิลาแลง หินภูเขา หินทราย ไม้หมอน มักจะอยู่ในงานดีไซน์สวนแบบทรอปิคัล หรือสวนป่าดิบชื้น เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถกักเก็บความชื้นได้นาน ทำให้พื้นที่สวนมีความชุ่มชื่น และเย็นสบาย
            - แผ่นทางเดินสำเร็จรูป ได้แก่ แผ่นทางเดินซีเมนต์ และแผ่นหินสังเคราะห์ มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 20 x 20 และ 40x40 เซนติเมตรขึ้นไป ทำให้สามารถกำหนดการจัดวางได้ง่าย และมีความแข็งแรง
  3. ตกแต่งระหว่างแผ่นทางเดินเพื่อความสวยงาม สามารถโรยหินแกลบ ซึ่งดูแลได้ง่าย และยังระบายนำ้ฝนลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว หรือปลูกหญ้าสลับ เช่น หญ้ามาเลเซีย เฟิร์นกนกนารี มอสส์ ถั่วบราซิล เป็นต้น ควรเลือกปลูกพืชชนิดที่ต้องดูแลรักษาง่าย ทนต่อการเหยียบย่ำ สามารถทนฝนได้ดี และสามารถระบายน้ำขังลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว        

การปูพื้นทางเดินนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยมีขั้นตอนวิธีการปูพื้นทางเดินทั่วไป คือ

  1.  ปรับหน้าดินให้เรียบเป็นทางเดินตามแบบที่ต้องการ 
  2. ใช้ทรายรองหน้าดินอีกชั้นเพื่อให้ระบายน้ำลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว หรือใช้ตาข่ายพลาสติก ซีเมนต์ เจาะรูระบายน้ำก็จะทำให้พื้นแข็งแรงมากขึ้น
  3. วางแผ่นทางเดินตามระยะที่กำหนดไว้จากนั้นก็ตกแต่งรอบๆ ทางเดินตามความต้องการ

แบบที่ 1 การปูพื้นทางเดินลงบนชั้นดินเดิม

วิธีการปูพื้นแบบนี้ สามารถใช้ได้กับสภาพดินที่มีความแข็งแรง ช่วยให้ระบายน้ำลงบนดินได้รวดเร็ว โดยการเสริมทรายหยาบบีบอัดแน่นจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของพื้นทางเดินมากยิ่งขึ้น

  • ปรับเกลี่ยนหน้าดินเดิมให้แน่น
  • กั้นขอบพื้นที่แนวทางเดินด้วยอิฐขอบปูน (Curb) หรือ ขอบสำเร็จรูป เพื่อช่วยให้ทางเดินคงทนแข็งแรงมากขึ้นและง่ายต่อการปูพื้น
  • ปูด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ Geotextile เพื่อป้องกันทรายไหลรวมกับดิน
  • โรยทรายหยาบเพื่อช่วยปรับระดับดินให้มีความเรียบสม่ำเสมอ หนา ประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • ปูด้วยแผ่นตะแกรงพลาสติก และวางแผ่นปูพื้นทางเดินตามต้องการ

แบบที่ 2 การปูพื้นทางเดินลงบนคอนกรีต

เหมาะสำหรับพื้นที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ โดยสามารถใช้คอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่ หรือแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป และเททรายหยาบบีบอัดแน่นอีกหนึ่งชั้นเพื่อปรับหน้าดิน

  • ปรับเกลี่ยนหน้าดินเดิมให้แน่น
  • กั้นขอบพื้นที่แนวทางเดินด้วยอิฐขอบปูน (Curb) หรือ ขอบสำเร็จรูป เพื่อช่วยให้ทางเดินคงทนแข็งแรงมากขึ้นและง่ายต่อการปูพื้น
  • เทคอนกรีต หรือใช้แผ่นพื้นคอนกรีตเพื่อเสริมความแข็งแรง
  • โรยทรายหยาบเพื่อช่วยปรับระดับให้มีความเรียบสม่ำเสมอ หนา ประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • วางแผ่นปูพื้นทางเดินตามต้องการ

แบบที่ 3 การปูพื้นทางเดินลงบนทรายหยาบ

วิธีการปูพื้นแบบนี้เหมาะสำหรับหน้าดินที่มีความแข็งแรง และเลือกใช้บล็อกพื้นทางเดินคอนกรีต ช่วยให้ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับพื้นที่สวนขนาดเล็ก และประหยัดงบประมาณ

  • ปรับเกลี่ยนหน้าดินเดิมให้แน่น
  • กั้นขอบพื้นที่แนวทางเดินด้วยอิฐขอบปูน (Curb) หรือ ขอบสำเร็จรูป เพื่อช่วยให้ทางเดินคงทนแข็งแรงมากขึ้นและง่ายต่อการปูพื้น
  • โรยทรายหยาบเพื่อช่วยปรับระดับดินให้มีความเรียบสม่ำเสมอ หนา ประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • ปูด้วยแผ่นตะแกรงพลาสติก และวางแผ่นปูพื้นทางเดินตามต้องการ

แบบที่ 4 การปูพื้นทางเดินลงบนแผ่น Geotextile 2 ชั้น

วิธีการปูพื้นแบบนี้เหมาะสำหรับหน้าดินที่มีความแข็งแรง แผ่น Geotextile จะช่วยให้ทราย และวัสดุตกแต่งพื้นไม่ไหลรวมกัน ยังช่วยให้ระบายน้ำลงดินได้ดีไม่เกิดน้ำขังอีกด้วย

  • ปรับเกลี่ยนหน้าดินเดิมให้แน่น
  • กั้นขอบพื้นที่แนวทางเดินด้วยอิฐขอบปูน (Curb) หรือ ขอบสำเร็จรูป เพื่อช่วยให้ทางเดินคงทนแข็งแรงมากขึ้นและง่ายต่อการปูพื้น
  • ปูด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ Geotextile เพื่อป้องกันทรายไหลรวมกับดิน
  • โรยทรายหยาบเพื่อช่วยปรับระดับดินให้มีความเรียบสม่ำเสมอ หนา ประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • ปูด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ Geotextile เพื่อไม่ให้วัสดุตกแต่งพื้นรวมกับพื้นทราย
  • วางแผ่นปูพื้นทางเดินตามต้องการ

องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักการออกแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.scgbuildingmaterials.com/th/

www.baanlaesuan.com/

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ