องค์ประกอบส่วนต่างๆของอาคารโครงสร้างไม้มีอะไรบ้าง (Wood Structure Detail)

" รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ ส่วนประกอบของอาคารโครงสร้างไม้ " ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

ไม้จริง (Natural Wood) ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค กี่สมัยก็ยังได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ด้วยลวดลายของผิวสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบธรรมชาติแท้ๆ ที่มีความสวยงาม ให้ความรู้สึกอบอุ่น และช่วยลดความตึงเครียดอึดอัด อีกทั้งยังถ่ายเทอากาศได้ดี จึงทำให้คุณค่าของไม้จริง ยังไม่มีวัสดุใดๆมาทดแทนได้แบบ 100% ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัสดุทดแทนไม้จริง ผลิตออกมาใช้กันมากมายในตลาด  

ชาวไทยนิยมใช้ไม้มาตั้งแต่สมัยอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยไม้ในอดีตเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะไม่สามารถนำไม้ในป่าธรรมชาติมาแปรรูปใช้งานได้เหมือนเช่นยุคก่อนๆแล้ว แต่ก็มีการป่าปลูกทดแทนเพื่อนำไม้มาใช้งานโดยเฉพาะ สำหรับไม้ที่นำมาแปรรูปใช้ก่อสร้างอาคาร ได้มีการแยกประเภทไม้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลักษณะความแข็งแรงของไม้ ดังนี้

- ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่แปรรูปได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจาง หรือ ค่อนข้างซีด ความทนทานมีขีดจำกัดไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากเท่าที่ควร จึงเหมาะกับงานในที่ร่ม หรือ งานชั่วคราวมากกว่าการนำมาปูพื้น 

- ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า โดยเฉลี่ยมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้เนื้อแข็ง ผิวสัมผัสของเนื้อไม้จะมีความมัน ลวดลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับงานปูพื้น งานเฟอร์นิเจอร์ และงานโครงสร้างไม้

- ไม้เนื้อแกร่ง เป็นไม้ที่มีการเจริยเติบโตช้ามากที่สุด จึงทำให้มีวงปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก โดยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 60-70 ปีขึ้นไป จึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักไม่มากแต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ที่ใช้ในงานโครงสร้างเป็นหลัก อาทิ พื้น คาน ตง ขื่อ และเสา 

จันทัน (Rafter) คือ

ส่วนที่วางเอียงลาดไปตามลักษณะของหลังคา ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงสร้างหลังคา มีหน้าที่รองรับและถ่ายเทน้ำหนักจากแปไปสู่อกไก่ อเส และหัวเสาตามลำดับ โดยแบ่งออกเป็น จันทันเอก คือ จันทันที่พาดอยู่บนหัวเสา และอกไก่ และจันทันพราง คือ จันทันที่พาดอยู่บนอเส และอกไก่ โดยทั่วไปจันทันจะวางเป็นระยะทุกๆ 1 เมตร โดยระยะห่างของจันทันจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา และระยะแป

สำหรับอาคารโครงสร้างไม้จันทันจะทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 5 นิ้ว และ 2 x 6 นิ้ว

สะพานรับจันทัน (Bridge Rafter) คือ

ส่วนที่วางอยู่บนขื่อคัด โดยทำหน้าที่รองรับจันทันพรางเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนตัวที่จุดกึ่งกลาง และป้องกันไม่ให้จันทันพรางบิด หรือ แอ่นตัว โดยสะพานรับจันทันมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว

อกไก่ (Ridge) คือ

ส่วนโครงสร้างหลังคาที่ทำจากไม้เนื้อแกร่ง หรือ ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยอกไก่จะวางอยู่บนดั้งบริเวณสันหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนักจันทันส่วนบนยอดจั่วตามแนวสันหลังคา โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว และ 2 x 8 นิ้ว

อเส (Stud Beam) คือ

ส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลังคาที่พาดอยู่บนหัวเสา มีลักษณะคล้ายคานทำหน้าที่ยึดและรัดหัวเสา โดยตำแหน่งการวางมักจะวางอยู่บริเวณริมด้านนอกของเสา ถือเป็นส่วนโครงสร้างที่ช่วยรับแรงจากกระเบื้องหลังคา แปหลังคา และจันทัน โดยถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาตามลำดับ  

อเสทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว และ 2 x 8 นิ้ว

ขื่อ (Tie Beam​) คือ

ส่วนของโครงสร้างที่วางอยู่บนหัวเสาในทิศทางเดียวกับจันทัน ทำหน้าที่รับแรงดึงและยึดหัวเสาในแนวคานทางด้านจั่วหลังคา แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่เสา อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยยึดโครงผนังอีกด้วย

ขื่อทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว และ 2 x 8 นิ้ว

ขื่อคัด (Collar Beam) คือ

ส่วนโครงสร้างซึ่งทำหน้าที่ยึดจันทันเอก เพื่อรับน้ำหนักของอกไก่ถ่ายเทไปที่จันทันเอก โดยขื่อคัดจะวางอยู่ในตำแหน่งใต้อกไก่ 

ขื่อคัดทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว

แป (Purlin) คือ

ส่วนประกอบของโครงหลังคาที่อยู่ตำแหน่งบนสุดของโครงสร้าง ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้แดง มีลักษณะหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำหน้าที่รับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคาประเภทต่างๆ โดยวางขนานกับแนวอกไก่ เริ่มต้นพาดยาวผ่านจันทันเอก และจันทันพราง แล้วไปสุดจันทันเอกที่อีกด้านหนึ่งของโครงหลังคา ซึ่งจะเว้นระยะวางห่างกันตามขนาดของวัสดุมุงหลังคาที่ใช้ โดยไม้แปมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x นิ้ว 

ดั้งเอก (King Post) คือ

ส่วนโครงสร้างที่ถูกยึดอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของขื่อตั้งฉากตรงขึ้นไปต่อรับกับอกไก่ที่วางพาดตามแนวสันหลังคา ดั้งเอกทำหน้าที่รับน้ำหนักที่ถ่ายมาจากวัสดุมุงหลังคา แป และอกไก่

ดั้งเอกนิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว

ตุ๊กตา หรือ ดั้งรอง (Queen Post) คือ

ชิ้นส่วนโครงสร้างที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งระหว่างดั้งเอกกับปลายขื่อทั้งสองข้าง  ดั้งรองจะถูกใช้ในกรณีที่หลังคามีขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยจันทันเอกรับน้ำหนักโครงหลังคาที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้จันทันเอกอ่อนตัว และบิดตัวถล่มลงมา  (ทำหน้าที่คล้ายดั้งเอก) 

ดั้งรองทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ,ไม้เต็ง หรือไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว

ค้ำยัน (Roof Bracing) คือ

ส่วนโครงสร้างเสริมในกรณีที่โครงสร้างหลังคามีขนาดใหญ่ ไม้ค้ำยันมีตำแหน่งอยู่ระหว่างดั้งเอก และตุ๊กตา ทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงด้วยการช่วยค้ำยันรับน้ำหนักจันทันเอก ดั้งเอก และตุ๊กตาเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนตัว หรือ บิดตัว ไม้ค้ำยันทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 4 นิ้ว

ปิดลอน (Fascia) คือ

ส่วนประกอบโครงสร้างหลังคา ทำหน้าที่ปิดช่องว่างของลอนกระเบื้องที่อยู่ปลายหลังคาเพื่อไม่ให้สัตว์ และแมลงต่างๆลอดเข้าไปทำรังหรืออาศัยอยู่ข้างในได้ ไม้ปิดลอนทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแข็งปานกลาง โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 x 6 นิ้ว

เสา (Column) คือ

เสาอาคารที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักของตัวอาคารทั้งหมด โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 4 x 4 นิ้ว ,6 x 6 นิ้ว และ 8 x 8 นิ้ว โดยมีลักษณะหน้าตัดอยู่ 2 รูปแบบ คือ เสาสี่เหลี่ยมจตุรัส และเสาทรงกลม

คาน (Beams) คือ

ส่วนโครงสร้างที่พาดอยู่ระหว่างหัวเสาสองต้น ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักวัสดุปูพื้น และตงโดยถ่ายน้ำหนักลงมาที่คานตามลำดับ ไม้คานที่ใช้ในอาคารโครงสร้างไม้ทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่  โดยไม้คานมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว ,2 x 8 นิ้ว และ 2 x 10 นิ้ว

ตง (Joists) คือ

ส่วนโครงสร้างที่วางพาดอยู่บนไม้คาน ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักวัสดุปูพื้นประเภทต่างๆ ไม้ตงทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่  ไม้ตงมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 6 นิ้ว และ 2 x 6 นิ้ว โดยติดตั้งเว้นระยะห่างทุกๆ 50 เซนติเมตร

ไม้กระดาน (Planks) คือ

แผ่นไม้ที่ใช้สำหรับทำเป็นฝาบ้าน และทำพื้นอาคาร ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง หรือ ไม้เต็ง ไม้กระดานสำหรับใช้ทำฝาบ้านมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1/2 x 6 นิ้ว และ 3/4 x 8 นิ้ว ในขณะที่ไม้กระดานสำหรับใช้ปูพื้นอาคารมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 x 4 นิ้ว ,1 x 6 นิ้ว และ 1 x 8 นิ้ว

ไม้เคร่า (Stud) คือ

โครงไม้เนื้ออ่อนที่ใช้สำหรับเป็นฉากรองรับน้ำหนักวัสดุผนังเบา หรือ วัสดุฝ้าเพดาน เมื่อเราต้องการที่จะต่อเติมกั้นห้อง หรือทำฝ้าเพดาน สิ่งที่ต้องใช้เป็นส่วนขึ้นโครงฉากสำหรับยึด และพยุงรับน้ำหนักแผ่นผนัง และฝ้าเพดานก็คือไม้เคร่านั่นเอง โดยขนาดของไม้เคร่าที่นิยมใช้ทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว

เชิงชาย (Eaves) คือ

ไม้ที่ปิดทับปลายของจันทัน ทำหน้าที่ปิดช่องว่างระหว่างจันทันและรับปลายกระเบื้องมุงหลังคา  ส่วนใหญ่แล้วทำจากไม้เนื้อแข็ง โดยขนาดของไม้เชิงชายที่นิยมใช้ทั่วไป คือ 1 x 4 นิ้ว ,1 x 6 นิ้ว ,1 x 8 นิ้ว และยาวท่อนละ 3 – 4 เมตร

ปั้นลม  (Gable Board or Eave) คือ

ไม้ที่ใช้ปิดหัวท้ายริมโครงสร้างหลังคาจั่วด้านสกัด โดยพาดอยู่บนหัวแปและด้านล่างของครอบข้างหลังคา มีหน้าที่กันน้ำ และลมไม่ให้ปะทะกับกระเบื้องหลังคาโดยตรง และช่วยเป็นที่ยึดเกาะของครอบข้างเพิ่มช่วยเพิ่มความสวยงาม โดยขนาดของไม้ปั้นลมที่นิยมใช้ทั่วไป คือ 3/4 x 6 นิ้ว และ 3/4 x 8 นิ้ว

ในอาคารโครงสร้างไม้ นอกจากไม้จะถูกนำมาใช้ทำโครงสร้างแล้ว ยังถูกนำมาใช้ในงานตกแต่งในส่วนอื่นๆอีก เช่น วงกบประตู-หน้าต่าง ,บานประตู-หน้าต่าง ,ระเบียง ,ไม้คิ้ว ,ไม้บัว ,เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และ Built in รวมไปถึงการตกแต่งรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆอีกมากมาย

นอกจากส่วนประกอบอาคารโครงสร้างไม้ทั่วไปแล้ว อาคารเรือนไทยก็ถือเป็นอาคารไม้ที่มีส่วนประกอบแบบเฉพาะเจาะจงในแบบฉบับความเป็นไทยมากกว่าอาคารไม้ทั่วไปเช่น พรึงไม้ ,รอดไม้ ,ราไม้ ,ฝาปะกน ,แปลาน ,ปันลม ,แผงหน้าจั่ว ,ค้ำยัน ,เหงาไม้ ,ค้างคาวไม้ ,สะพานหมู ,ผักมะขามไม้ ฯลฯ

ในขณะที่หลังคาทรงปั้นหยาก็จะมี ตะเฆ่สัน ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักที่ถ่ายจากจันทัน และตะเฆ่ราง ที่คอยรับน้ำหนักที่ถ่ายมาจากจันทัน และรองรับรางน้ำฝน

และในยุคปัจจุบันการนำไม้จริงมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมนั้นมีวิธีการ และเทคโนโลยีที่พัฒนาหลากหลายมากขึ้น จึงทำให้มีนวัตกรรมไม้จริงที่แปลกใหม่ เช่น ไม้จริงดัดโค้ง หรือ ไม้จริงทน ไฟ เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์งานสถาปัตยกรรมไม้ในอนาคต

ข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับไม้จริง

ข้อมูลอ้างอิงโดย

- การปรุงเรือนไทยเครื่องสับภาคกลาง : กรณีศึกษาเรือนไทยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : จักรพร สุวรรณนคร

- https://www.designingbuildings.co.uk/wiki

- http://www.unitcare.com.au/pdfs/roof_structures_explained.pdf

- https://www.awc.org/pdf/codes-standards/publications/wcd/AWC-WCD1-ConventionalWoodFrame-ViewOnly-0107.pdf

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ